‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ก.พ.ฟื้นต่อเนื่อง-จับตาผลกระทบ‘โอไมครอน-สินค้าแพง-แซงก์ชั่นรัสเซีย’

‘แบงก์ชาติ’ เผยเศรษฐกิจเดือน ก.พ. มีทิศทางฟื้นต่อเนื่อง จากปัจจัย ‘ส่งออกที่ดีขึ้น-ท่องเที่ยวฟื้นตัว’ มองเศรษฐกิจ มี.ค. ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องจับตาผลกระทบการแพร่ระบาดโอไมครอน-แซงก์ชั่นรัสเซีย’

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน ก.พ.2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. ยังอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าและบริการปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภายในประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารและราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น

สำหรับตลาดแรงงาน แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ตลาดแรงงานโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปราะบาง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการกลับมาเปิดลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นบ้าง

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. ยังคงมีแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด และราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับที่สูง จึงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ,การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้า รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะเรื่องการแซงก์ชั่น เพราะไม่ว่าการสู้รบจะจบหรือไม่จบ แต่การแซงก์ชั่นจะส่งผลกระทบที่ยืดเยื้อกว่านั้น

น.ส.ชญาวดี ระบุด้วยว่า จากเครื่องชี้วัดเร็ว พบว่าในช่วงวันที่ 1-24 มี.ค. ดัชนีชี้วัดการเดินทางของประชาชนลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ และจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบธุรกิจตั้งแต่วันที่ 1-18 มี.ค. พบว่า การดำเนินธุรกิจในภาพรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขณะที่ภาคธุรกิจได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

“ถ้าดูในภาคการผลิตก็ถือดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะตลาดส่งออก เพราะเศรษฐกิจคู่ค้ายังขยายตัวได้ ภาคบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ทรงตัว และภาคการค้าแย่ลงเล็กน้อย โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาด และการชะลอการบริโภค ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างแย่ลง เพราะการลงทุนยังไม่ฟื้นตัว และราคาวัสดุก่อสร้างทรงตัวในระดับที่สูง” น.ส.ชญาวดี กล่าว

bot 31 03 22 4

น.ส.ชญาวดี ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1/2565 น่าจะยังฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/2564 แต่คงไม่ได้หวือหวามากนัก เนื่องจากมีเรื่องการแพร่ระบาดของโอไมครอนอยู่ แต่ก็เป็นสิ่งที่คาดการณ์เอาไว้แล้ว และในช่วงไตรมาส 2/2565 เศรษฐกิจจะยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งการแพร่ระบาดของโอไมครอนน่าจะพีคในช่วงหลังสงกรานต์ และจะค่อยๆปรับดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้

น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งปัจจัยในประเทศและปัจจัยต่างประเทศ โดยปัจจัยในประเทศเป็นเรื่องพื้นฐานเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่ดี รวมทั้งสถานการณ์ราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีแรงขายทองออกมา ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเข้ามากระทบ เช่น ปัจจัยรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทยังคงเกาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ได้มีความผันผวนที่มากกว่าปกติ

bot 31 03 22 5

สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.2565 มีดังนี้

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในหลายหมวด อาทิ หมวดที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และหมวดสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะน้ำตาลที่ผลผลิตในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ยังได้รับผลดีจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้ ปรับลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของจีนที่เข้มงวดขึ้น

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการกลับมาเปิดให้ลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565

bot 31 03 22 1

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เป็นผลจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่กลับมารุนแรงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานและราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงบ้าง อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐยังเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงการใช้จ่ายของครัวเรือน

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยลดลงจากด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ ขณะที่ด้านก่อสร้างค่อนข้างทรงตัว

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ หมวดปิโตรเลียม และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับทิศทางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่การผลิตบางหมวดปรับลดลงจากเดือนก่อน อาทิ หมวดยางและพลาสติก หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดยานยนต์ และหมวดเคมีภัณฑ์ ส่วนหนึ่งเพราะยังได้รับผลกระทบจากปัญหา supply disruption

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่เร่งนำเข้าตามการบริหารคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ ขณะที่การนำเข้าหมวดสำคัญอื่น ๆ ลดลงบ้าง ทั้งวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการใช้จ่ายในประเทศ

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและอาหารสด รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เร่งขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูปตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงจากเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้นขณะที่ดุลรายได้ บริการ และเงินโอนยังขาดดุลต่อเนื่อง ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น หลังมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระบบ Test & Go อีกครั้งในเดือน ก.พ.

bot 31 03 22 3

ที่มา สำนักข่าวอิศรา