รัฐปลื้มผลลัพธ์กระตุ้นลงทุน จีนสนใจผลิตรถ EV ในไทยกว่า 1.44 พันล้านดอลล์

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ได้จัดกิจกรรมและพบปะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ มั่นใจจะเป็นโอกาสเพิ่มตัวเลขการค้าการลงทุนในไทย

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า EEC ได้หารือกับหน่วยงานสำคัญด้านการลงทุน รวมถึงพบปะกับผู้บริหารระดับสูงจากฝรั่งเศส ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อาทิ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งทุกบริษัทได้แสดงความสนใจในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ของประเทศไทย

โดย EEC ได้นำเสนอข้อมูลและโอกาสการลงทุน พร้อมแสดงจุดเด่นในพื้นที่ EEC เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ที่รองรับการคมนาคมขนส่งอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทางบก เรือ อากาศ ซึ่งจะเป็นประตูเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งได้ทั่วโลก รวมทั้งยังสร้างระบบเชื่อมโยงทางธุรกิจ (ecosystem) และเตรียมการพัฒนาทักษะบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุน

น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการลงทุนนี้ถือเป็นผลการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ที่ได้ออกมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามนโยบาย 30/30 คือในปี 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ ซึ่งการเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนนี้ ช่วยเพิ่มความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 31,000 คัน จดทะเบียนในประเทศไทย มากกว่าถึง 3 เท่าของจำนวนทั้งหมดในปี 2565 โดย BOI ได้ระบุล่าสุดว่า บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศจีนอย่าง บริษัท GAC AION New Energy Automobile ตอบรับเดินหน้าลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทย โดยจะใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 6,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัท สโฟวล์ท เอเนอจี้ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของจีน ยังได้เลือกไทยเป็นฐานและตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถ EV ในไทย ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากข้อได้เปรียบ รวมถึงบทบาทสำคัญของไทย ในฐานะศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับการผลิตและการส่งออกยานยนต์ ซึ่งจะเอื้อให้บริษัท สามารถขยายธุรกิจ และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตและส่งออกแบตเตอรี่ไปยังอินโดนีเซีย และเวียดนามได้ในอนาคต

“รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอุตสาหกรรมดั้งเดิม อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่ม EV ไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV รวมถึงการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในภูมิภาค โดย BOI มีมาตรการส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ที่พร้อมให้นักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ได้อย่างเต็มที่” น.ส.รัชดา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์