ประธานอาวุโสเครือซีพี แสดงวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาบนเวที “Forum for World Education 2022 นำเสนอแนวคิดเชื่อมั่นการศึกษาคือการสร้างคนที่มีศักยภาพช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเติบโต ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมระดมความคิดนำเสนอโมเดลการศึกษายุคใหม่ตอบโจทย์ธุรกิจยุค 5.0

1 ธ.ค.2565  เครือซีพีร่วมกับสภาเพื่อการศึกษาระดับโลก หรือ Forum for World Education (FWE) จัดสัมมนา “Forum for World Education 2022 : เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” โดยมี ประธานอาวุโสเครือซีพี คุณธนินท์ เจียรวนนท์ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร  ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือฯ พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั่วโลก อาทิ ดร.เฉิง เยี่ยน เดวิส (Dr. Cheng Yan Davis) ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการ FWE คุณเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสร์ วิจัยและนวัตกรรม. ดร.ตัน ซี เล็ง (Dr.Tan See Leng) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศสิงคโปร์, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้ ยังมี รศ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ, มร.แอนเดรียส ชไลเคอร์ (Andreas Schleicher) ผู้อำนวยการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD มร.ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวบลูมเบิร์ก และอดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก, มร.วิคราม เรา (Mr.Vikram Rao) หัวหน้าด้านวิสาหกิจ อาเซียน จากแอมะซอน  ดร.อิโนเอะ มิสึเทรุ (Dr.Inoue Mitsuteru)  กรรมการบริหารอาวุโส สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น  มร.คอลลิน มาร์สัน (Mr.Collin Marson) ผู้อำนวยการด้านการศึกษา กูเกิ้ล เอเชียแปซิฟิก และ มร.ลี ไค เฉิน (Mr.Li Kai Chen) หุ้นส่วนอาวุโสและหุ้นส่วนผู้จัดการ แมคเคนซี่  เป็นต้น เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นในการออกแบบรูปแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคต และสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจในทุกประเทศทั่วโลก โดยตั้งเป้าหมายสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา เตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์ให้แข็งแกร่ง สร้างอนาคตเศรษฐกิจโลกยุค 5.0 ต่อไป

การประชุมเริ่มขึ้นด้วยการแสดงของนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน ที่มาแสดงความสามารถด้านการดนตรีไทย  และการรำไทยเพื่อสื่อถึงวัฒนธรรมของชาติไทย ในโอกาสเดียวกันนี้ คุณสันติพงศ์ เจียรวนนท์ Representative of Concordian International, School Thailand ที่ได้มากล่าวต้อนรับ พร้อมทั้งแนะนำโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน โดยนำเสนอให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และวิสัยทัศน์ของการดำเนินการเรียนการสอนของ โรงเรียนนานาชาติ คอนคอร์เดียน

ในช่วงเริ่มต้นของการสัมนา Dr.Cheng Yan Davis เลขาธิการฯ FWE ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านการศึกษา โดยกล่าวว่าการประชุมครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะมีผู้นำด้านการศึกษาจากทั่วโลก 58 ท่านมาให้ความรู้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์  เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตการศึกษาที่ดีร่วมกัน โดยเชื่อว่าการศึกษาเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า ผู้นำธุรกิจจะเป็นผู้สร้างงานควบคู่ไปกับการศึกษา พร้อมทั้งบอกว่า วันนี้ได้ผ่านวิกฤต โควิด 19 มาแล้ว ขอให้ทุกคนใช้พลังการศึกษาขับเคลื่อนธุรกิจไปด้วยกัน และนำพาโลกให้ก้าวไป เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาระดับนานาชาติ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคต

เลขาธิการฯ FWE  ยังได้กล่าวขอบคุณ CPLI ที่สนับสนุนการจัดประชุมครั้งนี้ พร้อมทั้งขอบคุณท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ โดยกล่าวว่า ประธานอาวุโสเครือฯ  ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ก่อตั้งที่สร้าง CP ขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังสร้างให้ CP เป็นบริษัทชั้นนำของโลกและเอเชีย  และยังได้สนับสนุนการศึกษาซึ่งนำพา CP เป็นบริษัทชั้นนำของโลก

การสัมมนาในครั้งนี้ ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “การศึกษา กับความท้าทายและโอกาสสู่โลกยุคใหม่” หรือ “Challenge & Opportunities for the New Chapter of Education”  โดยได้พูดถึงความสำคัญของการศึกษาที่จะมีส่วนสร้าง “คน”  โดยกล่าวว่าองค์กรที่ยิ่งใหญ่ต้องสร้างผู้นำที่รู้ทุกเรื่อง ซึ่งเครือฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน  โดยได้ก่อตั้งสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อพัฒนาบุคลากรของเครือฯ  ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจและได้เรียนรู้รวมทั้งการไปดูงานจากบริษัทชั้นนำอย่าง ซัมซุง จีอี และ และโบอิ้ง

ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ยังกล่าวอีกว่า การประชุมในวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้ด้านการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก พร้อมทั้งบอกว่า ประเทศจะเจริญรุ่งเรืองได้อยู่ที่การศึกษา เพราะสามารถสร้างคน  ซึ่งคนสร้างจะสร้างทุกอย่าง  ทั้งการค้นคว้าวิจัย การเปลี่ยนแปลงพัฒนา  ความคิดการสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ  สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีคนคิด ต้องมีคนทำ มีคนใช้ ถ้าสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาแล้วไม่มีคนใช้ หุ่นยนต์ก็ไม่มีวิญญาณ  และเมื่อมีข้อมูล ก็ต้องมีคนมาวิเคราะห์ สร้างซอฟต์แวร์หรือเอไอมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ สุดท้ายหนีไม่พ้นคนจะคนคิด คนทำ คนใช้

นอกจากนี้ จะต้องสร้างคนให้เป็นผู้นำที่มีความกตัญญู รู้จักการให้ รู้จักเรียนรู้ รู้จักเสียเปรียบ ซึ่งเครือฯ มี 6 ค่านิยมที่พนักงานยึดถือเป็นแนวทางในการทำงาน สิ่งที่สำคัญคือ 3 ประโยชน์  การสร้างสรรค์นวัตกรรม ทำเร็วและมีคุณภาพ ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีความกตัญญู เก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นคนดี รู้จักตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน กตัญญูกับพ่อแม่ รักครอบครัว รักองค์กรบริษัท รักพนักงาน จึงจะเป็นผู้นำที่ดีได้

นอกจากนี้ ท่านประธานอาวุโส ยังได้กล่าวย้ำว่า เรียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำด้วย เพราะการทำสำคัญกว่าปัญญาและปริญญา ใครความจำดีขยันเรียนก็ได้ปริญญา แต่ปัญญาต้องอดทน  การเรียนรู้ คือ ปัญญา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย  ส่วนการลงมือทำนั้น ทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องกล้าทำให้ถูกต้องให้อำนาจ ให้เวที ให้การสนับสนุน ห้ามชี้นำแต่ชี้แนะได้

“ผมอยากเน้นว่า ในชีวิตผมไม่เคยฉลองไม่ว่าจะทำงานสำเร็จ เพราะถือว่าผมดีใจได้วันเดียว ทำงานยิ่งใหญ่ ยิ่งมีอุปสรรคเยอะ ประสบการณ์ในชีวิตผม ทำงานเล็กสำเร็จอุปสรรคก็เล็ก ทำงานใหญ่สำเร็จอุปสรรรก็ยิ่งใหญ่ บางอุปสรรคเกี่ยวข้องกับการเงินระดับโลก ต่างประเทศ ปัญหาเรื่องการเมือง ผมเชื่อมั่นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพะคน วันนี้ผมพูดไปในเรื่องที่ผมไม่มีการศึกษาสูง พูดด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา” ท่านประธานอาวุโสกล่าวในตอนท้าย

ด้าน มร.แอนเดรียส ชไลเคอร์ ผู้อำนวยการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD บรรยายในหัว Learnings From OECD’s Data&Research โดยได้กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษา ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ และยังเป็นเครื่องมือในการนำสู่เป้าหมายความยั่งยืนและสามารถแก้ไขปัญหาความท้าทายของโลก  พร้อมทั้งบอกว่า การศึกษาและเทคโนโลยีมีความสำคัญที่ต้องเชื่อมโยงกันเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของโลก เพราะเทคโนโลยีทำให้เกิดการบ่งปันกันได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันทำให้เกิดข้อมูลที่มีความหลากหลาย ดังนั้น จึงต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งการศึกษาจะทำให้เข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม  เทคโนโลยีและการศึกษาคือ สิ่งที่เตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องพัฒนาควบคู่กัน

ในโอกาสเดียวกันนี้ คุณศุภชัย เจียรวนนท์  ซีอีโอเครือฯ ยังได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การปฏิรูปการศึกษาและความพร้อมของทุนมนุษย์สู่โลก 5.0” หรือ  “Educational Transformation & Human Capital Readiness to The World 5.0” โดยกล่าวว่า  โลกกำลังเผชิญกับความท้าทาย 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.ความเหลื่อมล้ำ 2. การเปลี่ยนสู่ดิจิทัลและพลังงาน 3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4.ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง 5. โลก 2 ขั้วอำนาจ และ6.การเผชิญในเรื่องสุขภาพและโรคระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อโลก

ดังนั้น จึงต้องปรับการศึกษาให้สอดรับการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความท้าทายครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการปรับระบบการศึกษาให้ทันยุค 5.0 ที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดความรู้แบบองค์รวม ต้องปรับการศึกษาให้ทันกับอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ซีอีโอ เครือฯ ยังได้ยกตัวอย่างโครงการ CONNEXT ED ที่เน้นการเรียนรู้ในแบบปฏิบัติงานจริง (Action Learning)ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนอยู่ในโครงการมากกว่า 5,100 แห่ง มีครูผู้สอนมากกว่า 61,000 คน และมีนักเรียนร่วมโครงการ 2.31 ล้านคน โดยเน้นย้ำว่า การเรียนในยุคใหม่เด็กจะต้องเป็นศูนย์กลาง หรือ Child Centric และมีครูเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ดังนั้น จะต้องเสริมทักษะและศักยภาพของครูผู้สอน ต้องมีความสามารถ มี Mindset ที่เหมาะสมกับการดูแลเด็กคนหนึ่งที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้ในการสัมมนาในวันแรก ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  บรรยายพิเศษออนไลน์ในหัวข้อ Importance of education in preparing our workforce for the future  โดยได้กล่าวถึง การพัฒนาประเทศในยุคนี้ต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาการแผนใหม่ โดยในส่วนของอุดมศึกษาไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้มีการปฏิรูปในหลายด้าน โดยเปิดโอกาสให้ภาคสังคมและธุรกิจเข้ามามีส่วนกำหนดนโยบายด้านการศึกษา เพื่อข้ามข้อจำกัดต่างๆ ให้เกิดเป็นนวัตกรรมด้านการศึกษา และดร.ตัน ซี เล็ง (Dr.Tan See Leng) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศสิงคโปร์บรรยายพิเศษออนไลน์ในหัวข้อ” Importance of education in preparing our workforce for the future” นำเสนอเกี่ยวกับบทบาทของรัฐในการสนับสนุนการศึกษาในสิงคโปร์ เพื่อเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่

บนเวทีนี้ยังมีการสนทนากับผู้บริหารของบริษัทระดับโลกในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ในการกำหนดอนาคตของการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ มร.วิคราม เรา (Mr.Vikram Rao) หัวหน้าด้านวิสาหกิจ อาเซียน จากแอมะซอน  ดร.อิโนเอะ มิสึเทรุ (Dr.Inoue Mitsuteru)  กรรมการบริหารอาวุโส สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น  ที่มาเล่าให้เห็นภาพรวมขอการเรียนการสอน  และการพัฒนาผู้เรียนของสถานบันโคเซ็น มร.คอลลิน มาร์สัน (Mr.Collin Marson) ผู้อำนวยการด้านการศึกษา กูเกิ้ล เอเชียแปซิฟิก  ได้พูดถึงระบบนิเวศของการศึกษา โดยพูดถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาด้านการศึกษา และการสร้างโอกาสในการเข้าถึง

ในการประชุมสัมมนา FWE 2022 ที่จัดขึ้นในเมืองไทยครั้งนี้ ยังเต็มไปด้วยหัวข้อการประชุมที่เข้มข้น และน่าสนใจตลอดทั้งสองวันของการจัดงาน มีการแบ่งกลุ่มเสวนาย่อยเพื่อรวบรวมแนวคิดใหม่ ๆ  ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังในระบบการศึกษาและประเด็นสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนในอนาคตโดยผู้นำจาก จีน แอฟริกาตะวันออก เยอรมนี อินเดีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย และสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากภาคธุรกิจที่เข้าร่วมประชุมแล้ว ยังมีภาคการศึกษาที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกร่วมประชุมด้วย อาทิ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  เดอะ วอร์ตัน สคูล มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย, เอ็น วาย ยู เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น

อนึ่ง สภาเพื่อการศึกษาระดับโลก หรือ Forum for World Education (FWE) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2562  มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อระหว่างระบบการศึกษากับการทำงานให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอมุมมองด้านธุรกิจต่อการจัดการศึกษา เพื่อช่วยขับเคลื่อนและปฏิรูประบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทโลกทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว