ข่าวดี ! ไทย จับมือ เกาหลี ศึกษาความเป็นไปได้เตรียมสร้าง “Spaceport” ในไทย

“จิสด้า” จับมือเกาหลี เตรียมสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในไทย เริ่มจากศึกษาความเป็นไปได้ด้วยกัน

สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. และสถาบันวิจัยอวกาศแห่งเกาหลี (Korea Aerospace Research Institute) หรือการี (KARI) ร่วมลงนามความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้งท่าอวกาศยาน (Spaceport) ในประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา 

การแถลงความร่วมมือในครั้งนี้มี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการ GISTDA และ ดร.ลี ซังรยอล (Dr.Sang-Ryool LEE) ประธานบริหารของ KARI และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงอว. และมิสเตอร์ แบแจฮยุน (Mr.Bae Jae Hyun) อัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจําประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยานฯ ณ กระทรวง อว. กรุงเทพมหานคร อีกด้วย

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอวกาศ (space industry/ space economy) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ รวมไปถึง (ร่าง) พ.ร.บ. กิจการอวกาศที่จะเป็นกลไกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากอวกาศสู่การพัฒนาประเทศบนฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อไป

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในประเทศไทย ด้วยศักยภาพและความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์สำหรับการจัดตั้ง Spaceport มากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การได้ร่วมมือกับ KARI ซึ่งเป็นองค์กรด้านการวิจัยอวกาศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาตินี้เกิดขึ้นหลังจากการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)ความร่วมมือด้านกิจการอวกาศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

การศึกษาความเป็นได้ในการสร้าง spaceport ในประเทศไทย จะมี KARI และรัฐบาลเกาหลี เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกับคณะทำงานจากประเทศไทยที่นำโดย GISTDA ซึ่งพร้อมสนับสนุนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งร่วมจัดกิจกรรมด้านอวกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

การวิจัยดังกล่าวจะคำนึงถึงความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ สถานที่จัดตั้ง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ภัยพิบัติ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ชนิดของจรวดนำส่ง ใบอนุญาตและกฎระเบียบข้อบังคับในการนำส่งจรวด รวมทั้งแผนทางด้านธุรกิจ การวิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการทำความเข้าใจกับสังคม เป็นต้น ซึ่งการศึกษาความเป็นไปได้นี้จะต้องเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในเวลา 3 ปี เพื่อให้การตั้งท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport เป็นไปอย่างเรียบร้อยและรอบด้าน

ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวอีกว่า การศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาจัดตั้ง Spaceport ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ ต่อยอดขยายกิจการอวกาศของประเทศและภูมิภาคให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ที่จะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่กับประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ GISTDA