คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร PIM ร่วมกับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ธ.ออมสินส่งเสริม นศ.ปี4 ร่วมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็งยั่งยืน

สืบเนื่องจากธนาคารออมสินได้จัดทำโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นโดยสนับสนุนให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเกิดการเรียนรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการให้มีคุณภาพ ยกระดับผลิตภัณฑ์/ บริการให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น นักศึกษานำความรู้ไปพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการ ของชุมชนเพื่อให้กลุ่มองค์กรชุมชนเกิดการสร้างรายได้ เกิดการสร้างอาชีพในชุมชนกลุ่มองค์กรชุมชนมีการจัดทำบัญชีต้นทุน และบัญชีรับจ่ายครัวเรือนสร้างการมีวินัยทางการเงินและศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น ให้มีความมั่นคง เกิดผลที่ยั่งยืน รวมทั้งเกิดการเรียนรู้ เข้าใจวิถีชีวิต เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นตระหนักถึงความสาคัญของภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรอันมีค่าเพื่อจะช่วยจรรโลงรักษาให้อยู่คู่สังคมไทยสืบต่อไป

ดร.มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร เผยว่า สืบเนื่องจากทางสถาบันฯปัญญิวัวัฒน์มีการเรียนการสอนแบบ work based ที่ให้นักศึกษาเรียนรู้จากภาคปฏิบัติเห็นว่าโครงการในโอกาสนี้คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมนักศึกษาของคณะเข้าร่วมโครงการเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้จากของจริง สามารถนำความรู้การจัดการเกษตรสมัยใหม่เข้าไปช่วยชุมชนซึ่งมีความรู้ ภูมิปัญญาให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

โดยคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรได้เข้าร่วมโครงการฯและส่งเสริมนักศึกษาไปร่วมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยปี 2563 คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรได้ส่งนักศึกษาปี4ไปทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนรวม 7แห่งได้แก่ 1.วิสาหกิจชุมชนบ้านหนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เพื่อพัฒนาฟาร์มเห็ด 2.วิสาหกิจชุมชนท่ากระพี้เกษตรปลอดภัย อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรีเพื่อพัฒนากล้วยแปรรูป 3.วิสาหกิจชุมชนเพชรวังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่4.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตผักผลไม้ปลอดภัย ตำบลบ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรีเพื่อพัฒนาผักต้นอ่อนทานตะวัน 5.วิสาหกิจฟาร์มลุงเครา อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เพื่อพัฒนาหญ้าไผ่น้ำ 6.กลุ่มหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ท่องเที่ยวบ้านปลายบางอ.บางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวแบบsmart Travel 7.วิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านอ้อมพยศ อ.เมือง จ.นครปฐม แก้ปัญหาการส่งออกปลากัดไม่ได้ช่วงโควิด-19

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 จึงได้มีการจัดงานเพื่อให้นักศึกษาจาก 7 โครงการดังกล่าวมานำเสนอให้คณะกรรมการของคณะฯและธนาคารออมสินตัดสินเพื่อคัดเลือกผู้ชนะไปแข่งขันในโครงการฯที่จะมีนักศึกษาทำโครงการมาประกวดระดับประเทศรวม 63 สถาบันการศึกษา ซึ่งผลปรากฏว่าผลงานวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านอ้อมพยศ อ.เมืองจ.นครปฐม แก้ปัญหาการส่งออกปลากัดไม่ได้ช่วงโควิด-19 ได้รับการตัดสินเป็นผู้ชนะเลิศ โดยคณะกรรมเห็นพ้องกันว่าผลงานนี้ช่วยแก้ปัญหาของวิสาหกิจแห่งนี้ไม่สามารถส่งออกปลากัดได้ เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 นักศึกษาจากผลงานนี้เข้าร่วมกับวิสาหกิจและสามารถหาทางออกให้วิสาหกิจชุมชนสามารถไปต่อได้ เกิดการพัฒนาการตลาดในประเทศและมีการต่อยอดการจัดตั้งโรงเรียนปลากัดแห่งแรกของโลก

ส่วนวิสาหกิจชุมชนเพชรวังยาง อ.ศรีประจันต์จ.สุพรรณบุรี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 และวิสาหกิจชุมชนท่ากระพี้เกษตรปลอดภัย อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรีเพื่อพัฒนากล้วยแปรรูป กับวิสาหกิจฟาร์มลุงเคราอ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เพื่อพัฒนาหญ้าไผ่น้ำ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 ร่วมกัน

“โครงการของธนาคารออมสินกับแนวทางการเรียนของคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรสอดรับกัน โครงการทั้ง 7กลายเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับนักศึกษา แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่นักศึกษาก็สามารถบริหารจัดการเวลาในการลงไปทำงานกับวิสาหกิจชุมชนทั้ง 7แห่ง ผลที่ตามมา อาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้กรณีศึกษานำมาใช้สอนนักศึกษา นักศึกษาได้เรียนรู้จากของจริง เกิดกระบวนการทำงานร่วมคิดร่วมทำร่วมพัฒนาแก้ปัญหาให้ชุมชน ได้ฝึกฝนทักษะการทำงาน รู้จักทำงานกับชุมชน นำความรู้ที่ทันสมัยเข้าไปช่วยเสริมเติมให้กับชุมชนที่มีภูมิปัญญาจนเกิดการสร้างคุณค่า มูลค่าทำให้ชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ขณะที่วิสาหกิจชุมชนได้แนวคิด ความคิดใหม่ๆจากคนรุ่นใหม่ จึงเป็นโครงการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์กัน” ดร.มนตรีกล่าว

ขณะที่ตัวแทนธนาคารออมสินกล่าวว่าชุมชนถือเป็นครูนอกห้องเรียนของนักศึกษาๆได้นำความรู้สมัยใหม่ไปทำให้ภูมิปัญญาชุมชนเกิดมูลค่า คุณค่าใหม่ นักศึกษาได้ประสบการณ์ที่ดี ที่สำคัญวิสาหกิจชุมชนก็มอบความรักให้นักศึกษาเหมือนลูกที่ไปช่วยทำสิ่งที่เกินความคาดหมายของชุมชน

ส่วนตัวแทนวิสาหกิจชุมชนทั้ง7แห่ง ต่างประทับใจในนักศึกษาของคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร นักศึกษามีความคิดที่ทันสมัย ช่วยพัฒนาเรื่องการทำตลาดสมัยใหม่ให้วิสาหกิจชุมชนอย่างมาก ช่วยให้วิสาหกิจเองได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจการเกษตร การทำตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ รวมทั้งเรื่องการทำบัญชี

“นักศึกษาที่มาทำงานทำการบ้านอย่างดีช่วยวิสาหกิจชุมชนมีทางออก ทำได้ดีเกินคาดหมาย นักศึกษามีความรับผิดชอบสูง ทำงานเร็วมีคุณภาพ ต้องขอบคุณทั้งธนาคารออมสินและคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ที่ผลิตคนคุณภาพ” ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนกล่าว

ขอชื่นชมกับผลงานของทุกทีมและขอให้ตัวแทนทีมชนะเลิศไปแข่งในระดับชาติมีโอกาศคว้ารางวัล