RISC ร่วมแชร์องค์ความรู้แนวทางวิจัยและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน ในหัวข้อ ‘Sustainability Brand Love and CSV Strategies including Smart Community System’

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 – เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานด้านสื่อสารองค์กรและด้านความยั่งยืน อาทิ  CPG, CPF, CP All, True, Makro, Lotus, และ เอเชียเอราวัณ ร่วมในการประชุม Forestia Knowledge Sharing  ในหัวข้อ Sustainability Brand Love and CSV Strategies including Smart Community System โดยมี ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส และ คุณเพชรรินทร์ พงษ์เพ็ชรกูล สถาปนิกวิจัยอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED®AP BD+C, WELLTM AP, Fitwel Ambassador, TREES-A NC, Air Quality จาก ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center หรือ RISC) ร่วมแบ่งปันความรู้และการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินการโดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวลล็อปเม้นต์ ( Magnolia Quality Development  หรือ  MQDC) โดยประชุมผ่านระบบประชุมออนไลน์ TRUE VROOM

ดร.จิตพัต เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ MQDC ยึดหลักการของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มาเป็นแกนสำคัญในการวิจัยละพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของ MQDC เพื่อให้สอดคล้องกับ Brand Essence ของ MQDC เริ่มต้นตั้งแต่การก่อสร้างถึงการอยู่อาศัยโดยในการดำเนินงานนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานภายในที่พักอาศัยอย่างเหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงสร้างคอมมูนิตี้โดยรอบอย่างยั่งยืน

ด้านคุณเพชรรินทร์ เล่าถึงกระบวนการด้านความยั่งยืนในโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ ว่า ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างทีมงานใส่ใจเรื่องอุณหภูมิและคุณภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างจึงมีการตรวจวัดระดับในพื้นที่ก่อสร้าง ใส่ใจถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่พักอาศัย เช่น ระดับแสงสว่าง วัสดุ Food Grade เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรพื้นที่ปลูกต้นไม้โดยรอบโครงการ และยังได้ติดตั้งระบบ Plant-e ซึ่งเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพืช เป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นจากประเทศเนเธอแลนด์นำมาใช้ในการผลิตพลังงานสะอาดภายในโครงการ รวมถึงให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้มีการสำรวจสิ่งมีชีวิตในพื้นที่และพัฒนาโครงการให้ทุกสิ่งมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังได้สนับสนุนการสร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยการจ้างงานเพาะกล้าไม้ และดูแลต้นไม้ระยะเวลา 3  เดือน ก่อนนำไปปลูกในพื้นที่โครงการ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2550

การประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 30 ท่าน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ด้านความยั่งยื่น ซึ่ง MQDC เป็นกรณีศึกษาที่ดีในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้วยโจทย์ที่ว่า   ‘ทำไม’ การเริ่มลงมือทำเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจึงสำคัญ