งานอนุรักษ์และการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ในมุมมองของภาคเอกชน

เพราะงานอนุรักษ์และการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่หน้าที่ของใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หากแต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนร่วมกันใช้ หรือก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการช่วยกันดูแล ฟื้นฟู รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเรา

จากแนวคิดนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงได้จัดเสวนาหัวข้อ “ธุรกิจ งานอนุรักษ์ ความยั่งยืน” โดยเชิญผู้บริหารจากภาคเอกชน 4 หน่วยงานที่ร่วมทำงานด้านอนุรักษ์กับมูลนิธิสืบฯ  ได้แก่ ธุรพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทบาธรูมดีไซน์ จำกัด บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด (พาซาญ่า) และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์เปอเรชั่น จำกัด เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด พร้อมๆกับรับฟังนโยบายและทิศทางด้านความยั่งยืนของแต่ละองค์กร โดยเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร ที่จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เพื่อร่วมรำลึกและสานต่อเจตนารมณ์ด้านการอนุรักษ์ของคุณสืบ ต่อกลุ่มคนเมืองทุกช่วงวัยที่สนใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดร.สดุดี สุพรรณไพ รองกรรมการผู้จัดการ สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและกำกับการปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ ธุรพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพี ให้ความสำคัญกับงานอนุรักษ์ และการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน  จึงได้มีการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งงานบริการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเรา เป็นธุรกิจต้นน้ำที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร และการใช้ทรัพยากรต่างๆ ด้วยตระหนักดีว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นของส่วนรวม การพัฒนาธุรกิจของเราจึงอยู่บนพื้นฐานความยั่งยืน และมีแผนการใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ และมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้ทรัพยากรของเราส่งผลกระทบต่อคนรุ่นถัดไป

ที่ผ่านมา บริษัทได้มีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิสืบฯภายใต้ชื่อโครงการธรรมชาติปลอดภัยผืนป่าตะวันตก อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างทางเลือกให้กับชุมชนตามแนวกันชนผืนป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าที่ออกมานอกพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงโครงการเชื่อมป่าฯ อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศระหว่างอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงด้วยกระบวนการป่าเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น 1 ยุทธศาสตร์การจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ของมูลนิธิสืบฯ

“ผมเชื่อว่า การทำงานอนุรักษ์ต้องเริ่มจากการปลูกต้นไม้ในใจคนก่อน เมื่อเขาได้เรียนรู้ถึงผลกระทบต่างๆ เขาจะเห็นคุณค่าและอยากมีส่วนร่วมในการดูแล ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ บริษัทจึงให้พนักงานมีส่วนร่วมกับกิจกรรมอนุรักษ์ต่างๆ เพราะความร่วมมือของคนในองค์กรนอกจากจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายความยั่งยืนได้แล้ว ยังอาจขยายผลไปยังครอบครัว หรือสังคมรอบข้าง ที่จะช่วยกันดูแลทรัพยากรอีกด้วย” ดร.สดุดี กล่าว


คุณวัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ ประธานกรรมการบริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามาทำงานร่วมกับมูลนิธิสืบฯว่า  ประมาณปี 2549 บริษัทได้รับรางวัลธรรมาภิบาลของธุรกิจขนาดกลาง จึงตั้งใจที่นำเสนอเงินรางวัลบริจาคให้กับ 2 องค์กรการกุศลคือ 1.มูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี และ 2.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“โดยส่วนตัวผมมีคุณสืบ เป็นต้นแบบ เพราะประทับใจกับความเสียสละของคุณสืบ จึงนำเงินรางวัลมาบริจาค ด้วยอยากมีส่วนร่วมในการสืบสานเจตนารมณ์ด้านการอนุรักษ์ของท่าน หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำงานในฐานะคณะอนุกรรมการด้าน CSR ของทางมูลนิธิสืบฯ เลยเห็นความตั้งใจทำงานด้านอนุรักษ์ของทีมงานเล็กๆที่ใจใหญ่ จึงพยายามช่วยด้วยการนำ connection ทางธุรกิจมาเชื่อมการทำงานร่วมกับมูลนิธิสืบฯ” คุณวัชรมงคลกล่าว

ส่วนงานด้านความยั่งยืนในมุมของบริษัท นอกจากจะให้ความสำคัญกับการออกแบบ และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาสุขภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับคนดี และกระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำความดี โดยเปิดโอกาสให้พนักงานคิดโครงการด้านอนุรักษ์และช่วยกันลงมือทำ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นคะแนนพิเศษในการพิจารณาปรับเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่ง

คุณรติยา จันทรเทียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด (พาซาญ่า) เล่าให้ฟังว่า ได้เรียนรู้และซึมซับงานอนุรักษ์มาตั้งแต่เด็กๆจากคุณแม่ คืออาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบฯ จึงนำมาปรับใช้เป็นแนวทางการบริหารงาน เพราะบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอ เราจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ดูแลสิ่งแวดล้อม และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำ  เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิต

ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของพนักงาน เพราะเราเชื่อว่าคุณภาพชีวิตที่ดี การมีความสุขในการทำงาน จะนำไปสู่การทำงานและการผลิตสินค้าที่ดี  ส่วนงานอนุรักษ์เราพยายามปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของโรงงาน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบๆให้มากขึ้น

“เราสนับสนุนพนักงานได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอนุรักษ์ เพราะเชื่อว่าการลงมือทำ จะทำให้เขาเห็นคุณค่าและอยากดูแลรักษา ดังนั้นคำถามที่ว่าควรปลูกต้นไม้ที่ไหน จึงไม่สำคัญเท่าการลงมือปลูก โดยเฉพาะการปลุกจิตสำนึกในใจ” คุณรติยากล่าว

คุณรสกมล วงษ์เชาวนาถ หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน ประเทศไทย ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์เปอเรชั่น จำกัด เล่าว่า การทำธุรกิจของ HSBC ในทุกประเทศ นอกจากจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนแล้ว ยังให้คำนึงถึงเรื่องการพัฒนาสังคม และชุมชน รวมทั้งงานอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะเราเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆจะยั่งยืนได้ เมื่อคนในสังคมได้รับการดูแลและพัฒนาไปด้วยกัน

“ที่ผ่านมา HSBC มีกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำร่วมกับหลายชุมชน โดยโครงการเหล่านั้นจะเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอาชีพกับชุมชน ล่าสุด HSBC ยังได้ร่วมกับมูลนิธิสืบฯทำโครงการด้านอนุรักษ์ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ขณะเดียวกันเรายังสนับสนุนให้พนักงาน ได้เป็นอาสาสมัครร่วมทำกิจกรรมดูแลผืนป่าและรักษาถิ่นที่อาศัยของสัตว์ป่า เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการส่วนร่วมในการทำงานอนุรักษ์ให้กับพนักงาน และส่งผ่านไปยังครอบครัวกับคนรอบข้างในการช่วยการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป” คุณรสกมลกล่าว

ท้ายสุดคุณภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า รู้สึกยินดีและขอบคุณ ภาคธุรกิจทั้ง 4 องค์กรที่ได้ร่วมทำงานกับมูลนิธิสืบฯ ซึ่งในการทำงานทั้งมูลนิธิสืบฯและภาคธุรกิจ ได้ผ่านการเรียนรู้ และหารือกระบวนการทำงานต่างๆร่วมกัน เพื่อจะผลักดันงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสู่เป้าหมายที่วางไว้