‘เจ้าสัวธนินท์’ ขยายประตูจีน ชวนลงทุนในไทย

หมายเหตุ – เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติ หอการค้าไทย-จีน กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ที่ฮอลล์ 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

ในโอกาสนี้ผมมีข้อเสนอ 3-4 ประเด็น เพื่อแบ่งปัน กับท่านทั้งหลาย จากเมื่อครู่ที่ผู้บริหารทุกท่านกล่าวมา เป็นโอวาทต่อกันกับนักธุรกิจชาวจีนโลก สิ่งที่ผมจะพูดคือมุมมองของนักธุรกิจชาวจีน

โลกนี้ในทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลง มีสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจชาวจีน นักธุรกิจจีนโพ้นทะเล เห็นโอกาสจากในวิกฤต วิกฤตก็เป็นโอกาส และนักธุรกิจชาวจีนมีการวิเคราะห์โอกาส และคว้าโอกาสอย่างไร ผมจะขอแบ่งปันความคิดของผมกับท่านทั้งหลาย

เมื่อก่อนประเทศญี่ปุ่น มีการลงทุนในประเทศ และลงทุนในกลุ่มประเทศภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อผ่านไปหลายสิบปี การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย เป็นผลมาจากความสำเร็จของการลงทุนจากญี่ปุ่นส่วนหนึ่ง โดยการลงทุนของญี่ปุ่นนำมาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสของการพัฒนา ถือเป็นคุณูปการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย

แต่ทุกวันนี้ เรามีประเทศจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีประชากรจำนวน 1,400 ล้านคน หากย้อนกลับไปที่ประเทศญี่ปุ่นที่มีประชากรไม่กี่ร้อยล้านคน แต่สามารถที่จะมีบทบาท สร้างคุณูปการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ทุกวันนี้ประชากรของประเทศจีน มีมากกว่าญี่ปุ่นเป็น 10 เท่า และขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ส่วนญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 3 ขณะที่ไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ทั้งนี้หากรวมจีน ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม ไปถึงเกาหลีใต้ จะมีประชากรรวม 2,000 ล้านคน ในทุกวันนี้ ที่ประเทศจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว

ต้องขอบคุณนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และประธานกรรมการจัดงานการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ครั้งนี้ที่กล่าวถึงเรื่องโอกาสและการพัฒนาจากหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ตรงกับที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่นำเสนอประเด็น ร่วมกันหารือ ร่วมกันพัฒนา ร่วมกันแบ่งปัน เป็นคำกล่าวที่เป็นรูปธรรม และนายสี จิ้นผิง พูดถึงการสร้างประชาคม ร่วมชะตาของมวลมนุษยชาติ

ในมุมมองของภาคธุรกิจ ในแง่ผลประโยชน์ การไปลงทุนนั้น มีประโยชน์ 3 ข้อ โดยไม่ว่าจะไปลงทุนที่ประเทศไหนก็แล้วแต่ ต้องมี 1.ประโยชน์ต่อประเทศชาติ 2.เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และ 3.ต้องเป็นประโยชน์ต่อเครือบริษัท ผู้บริหาร หลายท่านก็พูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องใช้ จิตวิญญาณลักษณะนี้ ในการสร้างประโยชน์ให้ ทุกฝ่าย และต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

เมื่อ 50 ปีที่แล้วไทยใช้เทคโนโลยีในขณะนั้น แน่นอนว่าเทคโนโลยีเมื่อ 50 ปีที่แล้วอาจจะสู้เทคโนโลยีวันนี้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น ไทยนำเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาในการเลี้ยงไก่เข้าสู่ประเทศไทย หลายท่านอาจจะสงสัยว่าความรู้ของประเทศไทยจะไปเทียบเท่ากับอเมริกาได้อย่างไร ในเมื่ออเมริกาเลี้ยงฟาร์มหนึ่ง 1 ล้านตัว ส่วนไทยนั้นเลี้ยงไก่ฟาร์มหนึ่งแค่ 500 ตัว ก็ถือว่าเป็นภารกิจ ที่ยิ่งใหญ่แล้ว

แต่ทั้งนี้ การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่อาจจะเป็นเรื่องยาก และกับการนำเทคโนโลยีที่คิดไปแล้วมาใช้นั้นไม่ยาก ดังนั้น ผมจึงมีความเข้าใจฝ่ายการผลิต ต้องเน้นว่านักธุรกิจส่วนใหญ่จะมีสินทรัพย์จำนวนมาก แต่การลงทุนในสินทรัพย์ โดยใช้เงินในการลงทุนเป็นสิ่งที่ล้าสมัยแล้วหรือไม่ ตอนนี้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต เป็นที่แพร่หลาย คนในปัจจุบันอาจจะลงทุนโดยไม่ใช้สินทรัพย์แล้ว

อย่างไรก็แล้วแต่ ยังต้องมีโรงงานผลิตและการขนส่งโลจิสติกส์ ทั้งสองอย่างนี้เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินทุน แตกต่างจากอุตสาหกรรมชั้นสูง อาทิ อุตสาหกรรมการเผยแพร่เพลง การผลิตต้องมีการลงทุน เป็นการสร้างโอกาส และต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ดังนั้น นักธุรกิจก็ใช้เงินทุน ทำให้กลายเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีชั้นนำของโลกมาแปรรูป ให้สินทรัพย์ที่มี กลายเป็นรูปแบบดิจิทัล

ดังนั้น นักธุรกิจยังมีโอกาสสองชั้น คือ ชั้นที่ 1 เราก็ใช้โอกาสจากการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม อาลีบาบา หรือผิงอัน บริษัทประกันชั้นนำของจีน ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง เราสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีที่เขามีอยู่ มาแปรรูป มาปฏิรูปธุรกิจของเรา การที่เราใช้เทคโนโลยีนั้นไม่เพียงแต่จะนำมาทดแทนคนงาน แต่จะมาเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น 3-5 เท่า โดยแรงงานก็ย้ายไปภาคบริการ ไปสร้างธุรกิจใหม่

ย้อนกลับไป 70-80 ปีที่แล้ว คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ ไปเป็นเถ้าแก่ ไปสร้างธุรกิจ แต่วันนี้การสร้างธุรกิจ มีความสะดวก มีความรู้ และเทคโนโลยี มีอินเตอร์เน็ต มีข้อมูลข่าวสารที่สามารถค้นจากอินเตอร์เน็ตได้ ให้ข้อมูลเราได้มากมาย ให้ผู้สร้างธุรกิจมองเห็นตัวเลข มองเห็นซัพพลายเออร์ วางแผนการซื้อขายได้ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเรื่องของอุตสาหกรรมการผลิต ต้องมีการกระจายสินค้า หรือโลจิสติกส์ นักธุรกิจจึงยังต้องลงทุน เพื่อผลิตสินค้าไปขาย และมีการขนส่ง เพราะถ้าไม่มีธุรกิจส่วนนี้ มีแต่คนทำการค้าขาย แล้วใครจะมาผลิตสินค้าให้ ดังนั้น จึงยังต้องมีการลงทุนทรัพย์สินเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์

อย่างไรก็ดี ในการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิต ก็ต้องมีการปฏิรูปและใช้เทคโนโลยี นักลงทุนสามารถไปดูไปศึกษาที่ประเทศจีนว่าที่จีนเขาทำกันอย่างไร เขาใช้เทคโนโลยีในการปฏิรูปการผลิตอย่างไร ที่จีนนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการตั้งกองทุนขึ้นมา ไปลงทุนในบริษัทประกัน และบริษัทอื่น บริษัทมีแผนในการตั้งกองทุนเพิ่มโดยมองตลาดของจีน เพราะอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปเทคโนโลยี มีบุคลากร แต่ขณะเดียวกันอาจจะเข้าถึงแหล่งทุนยากลำบาก แต่ยังสามารถเข้าไปศึกษาเทคโนโลยีและประสบความสำเร็จของเขา มาประยุกต์ใช้ได้ในภูมิภาคเรา

ประตูที่เปิดแล้วของจีน ยิ่งเปิดจะยิ่งกว้าง ลองมองดูว่าโครงสร้างพื้นฐานของจีนตอนนี้ แตกต่างกับเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ประชาชนจีนตอนนี้ ร่ำรวย นักธุรกิจจีนมีทุนทรัพย์ และมีมากกว่า นักธุรกิจไทยเราด้วยซ้ำไป แต่อุตสาหกรรมการผลิตของจีนต้องมีการเปลี่ยนแปลง ที่พูดนี้คือต้องการไปแทรกแซงหรือไม่นั้น คำตอบคือไม่ใช่ เพราะเป็นแค่การที่นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปช่วยในการ ดำเนินการปฏิรูป อาจจะใช้ความรู้ที่ประสบความสำเร็จที่อื่นนำไปปรับใช้ที่จีน ขณะเดียวกันก็ค้นหาประสบการณ์ที่สำเร็จในจีนกลับมาปรับใช้

เมื่อ 40 ปี จีนไม่มีทุนทรัพย์ จึงต้องเชิญบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ไปลงทุน โดยลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมจักรยานยนต์ เพราะจีนขณะนั้นขาด ทุนทรัพย์ ขาดเทคโนโลยี บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีทุนทรัพย์ มีเทคโนโลยี ทั้งนี้ จีนมีตลาดขนาดใหญ่ แต่ทุกวันนี้จีนมีทั้งเทคโนโลยี มีทั้งบุคลากร และมีตลาดแล้ว ซึ่งหลายอุตสาหกรรมมีการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงแล้ว ซึ่งจะเป็นโอกาสของนักธุรกิจชาวจีน และประเทศต่างๆ

การมีเทคโนโลยีนั้น ช่วยภาคธุรกิจประหยัดพลังงาน มีบิ๊กดาต้า ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และยิ่งใช้เทคโนโลยี ใช้ดิจิทัล ใช้บิ๊กดาต้า ประชาชนก็ยิ่งสะดวกในการซื้อของ และคนที่จะผลิตสินค้าก็คืออุตสาหกรรมการผลิต ส่วนคนที่ช่วยส่งของ คือ โลจิสติกส์ อินเตอร์เน็ตเทคโนโลยีเป็นการช่วยการเรื่องตลาด และถ้าสินค้าที่ผลิตมามีความปลอดภัย มีราคาถูก ก็จะเป็นจุดขาย จุดแข็งได้

ทั้งนี้ อยากฝากทุกท่านพิจารณาว่าประเทศ อยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ที่เคยสัมผัสกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้เลือกลงทุนในประเทศไทยเป็นหลัก ผมหวังว่านักธุรกิจชาวจีนทั่วโลกจะพิจารณามาลงทุนที่ไทย โดยเฉพาะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

อีกประเด็นสุดท้ายที่อยากแบ่งปัน คือ ในอนาคตสิ่งที่สำคัญที่สุดในการผลิต เทคโนโลยีต่างๆ ในการใช้งาน คือการที่จะต้องใช้กำลังไฟฟ้า ไฟฟ้าถือเป็น พื้นฐานที่สุดของการผลิต และถ้าไฟฟ้ามีราคาที่ ไม่แพงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานที่สะอาด เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะยิ่งดี

ครั้งที่เคยเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสมีแผนงานที่จะลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ประชาชนชาวฝรั่งเศสไม่ได้คัดค้านการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ เพราะภาครัฐของฝรั่งเศสมีมาตรการลดความเสี่ยง หรือมีมาตรการคุ้มครองประชาชนจากความเสี่ยง นอกจากนั้น ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ พลังลม และพลังแสงอาทิตย์ แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังนิวเคลียร์ถือว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด และได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากกระบวนการที่สะอาด และผลิตได้ในราคาที่ถูก ที่สุด

ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงมีมาตรการสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ไปลงทุนเพื่อกองทุนโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ เพื่อให้ได้ไฟฟ้าที่สะอาด ซึ่งคนก็ให้ความสนใจ ไม่ได้มองว่ามันเสี่ยง ส่วนประชาชนชาวจีนก็ไม่ได้มีแนวโน้มคัดค้าน การสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในอนาคต ส่วนตัวคิดว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีความสำคัญ รวมทั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจาก พลังน้ำ พลังลม และพลังแสงอาทิตย์ ยังมีโอกาส สรุปคือ การที่เปลี่ยนและมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่สะอาด มีความสำคัญต่อการพัฒนาในอนาคต เทคโนโลยีทั้งหลาย การต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า

 

 

 

ที่มา :  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 26 มิ.ย. 2566