ตามไปดูโครงการธุรกิจสู่ชีวิตยั่งยืน: ชุมชนเกาะเพชร หัวไทร นครศรีธรรมราชอีก 1 โครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน

เป็นอย่างไรค่ะ ชาวซีพี มีโอกาสได้ติดตามตัวอย่างโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนกันมาหลายโครงการ wearecp เก็บอีกโครงการน่าสนใจมาฝากชื่อว่า โครงการธุรกิจสู่ชีวิตยั่งยืน ชุมชนเกาะเพชร หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือซีพี ที่ต้องการสร้างงานสร้างอาชีพ ส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้ชุมชนประมงพื้นบ้านบ้านเกาะเพชร ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เข้มแข็ง

ทีมงานเล่าว่าหลังจากชุมชนประมงพื้นบ้าน บ้านเกาะเพชร ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ได้รวมกลุ่มกันเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่องทั้งการสร้างแนวเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ทะเลหน้าบ้านการสร้างบ้านปลา ธนาคารปูและหมึกรวมถึงการได้รับความร่วมมือจากชาวประมง ทั้งแบบพื้นบ้านและพาณิชย์ในการทำประมงอย่างรับผิดชอบ ด้วยการใช้เครื่องมือที่ถูกกฎหมาย ทั้งอวนปู อวนกุ้ง อวนปลา เพื่อให้จับสัตว์น้ำได้ในขนาดที่เหมาะสม จนทำให้ทรัพยากรทะเลหน้าบ้าน“อ่าวหน้าทอง”จากที่เคยได้ชื่อว่าทะเลร้างกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ส่งผลให้ชุมชนสามารถจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณที่มากขึ้น ก่อให้เกิดการสร้างงาน และรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนั้นแม้ว่าสัตว์น้ำที่ชุมชนจับได้จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยกลไกตลาดที่ชุมชนต้องอาศัยพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก ทำให้ราคาสัตว์น้ำมีราคาต่ำ ทั้งยังถูกกดราคาในการรับซื้อ ในจุดนี้จึงทำให้ชาวชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยแม้ว่าจะสามารถจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณที่มากก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ชุมชนประมงพื้นบ้านบ้านเกาะเพชรนำโดยสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร จึงร่วมกันคิดวิธีการเพื่อหาทางออกให้กับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มผลิตภาพให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำที่จับมาได้ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกลไกตลาด ที่ชุมชนสามารถเป็นผู้กำหนดราคา หรือสามารถขายวัตถุดิบที่เป็นสัตว์น้ำโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดการกระจายรายได้ และสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ทั้งยังทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนการช่วยเหลือสังคมควบคู่กับกันไป จนเป็นที่มาของการแปรรูปอาหารทะเลจากสัตว์น้ำที่ชาวชุมชนสามารถหาได้ ภายใต้ชื่อ “รอยยิ้มชาวเล”โดยมุ่งเน้นรูปแบบ“ธุรกิจสู่ชีวิตยั่งยืน”ที่นำปัญหาของชุมชนมาเป็นแนวทาง และเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ชาวชุมชนประมงพื้นบ้านบ้านเกาะเพชรได้ดำเนินการแปรรูปอาหารทะเล อย่างปลาเกล็ดขาวผีเสื้อ, ปลาเกล็ดขาวแห้ง, ปลาโคบเส้นรสหวาน และรสดั้งเดิม และได้ทดลองตลาดโดยนำสินค้าไปจำหน่ายเป็นครั้งแรกในงาน“วันแห่งโอกาส@CP ALL”เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นทำให้ชาวชุมชนประสบกับปัญหารายได้ลดลง นอกจากไม่สามารถขายสัตว์น้ำได้แล้ว ยังไม่สามารถนำเอาสินค้าอาหารทะเลแปรรูปของชุมชนไปจำหน่ายตามร้านค้า หรือตลาดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ได้ เนื่องจากร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวตามมาตรการของรัฐ รวมถึงผู้คนส่วนใหญ่อยู่บ้าน ชุมชนจึงได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการขายให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการปรับรูปแบบการขายจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ ผ่านช่องทาง Facebook และ Line จนทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างมากมาย

การดำเนินงานโครงการ “ธุรกิจสู่ชีวิตยั่งยืน” มีเป้าหมายที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มผลิตภาพให้กับทรัพยากรสัตว์น้ำที่ชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะเพชรจับมาได้ทั้งยังสามารถเป็นผู้กำหนดราคาขายวัตถุดิบสัตว์น้ำโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน ผ่านการจ้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มที่สำคัญยังทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนการช่วยเหลือสังคมควบคู่กันไป จนเกิดเป็นโมเดลธุรกิจชุมชนต้นแบบยั่งยืน ที่นำปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนมาเป็นเป้าหมายหลักของการดำเนินธุรกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการพึ่งพาตนเอง จนสามารถเป็นต้นแบบให้ชุมชนประมงอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน

1. ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนประมงอื่นๆ โดยกลุ่มได้มีการวางแผนที่จะขยายเครือข่ายในการทำงาน พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไป

2. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสัตว์น้ำ โดยราคาสัตว์น้ำที่แปรรูปเป็นสินค้า สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาดในพื้นที่

3. สมาชิกชุมชนมีรายได้เพิ่ม เกิดการจ้างงาน มีรายได้เพิ่ม นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยสมาชิกสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทำให้มีรายได้เพิ่มจากหลากหลายช่องทาง

4. เกิดเป็นรูปแบบการจัดการธุรกิจชุมชนยั่งยืน ที่นอกจากจะสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวชุมชนแล้ว ยังทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคม รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลควบคู่กันไป

ทีมงานเล่าอีกว่า 1 ปีที่ดำเนินงานมาภูมิใจกับโครงการเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาได้เกิดโครงสร้างในการบริการจัดการธุรกิจชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ออกมา 4 ผลิตภัณฑ์(ปลาหลังเขียวเส้นรสหวาน, ปลาหลังเขียวเส้นรสดั้งเดิม, ปลาเกล็ดขาวแห้ง และปลาเกล็ดขาวผีเสื้อ) และชุมชนได้เรียนรู้แผนธุรกิจ ชุมชนสามารถสร้างรายได้ และมีกำไรสุทธิ เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่การจัดการเพื่อความยั่งยืนของกลุ่ม (มีการปันผลกำไร 5 ส่วน คือ สมาชิก , กองทุนอนุรักษ์และฟื้นฟู, ทุนการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาสและลูกหลานชาวประมง , บริหารจัดการกลุ่ม , และทะนุบำรุงศาสนา ) ,มีการถ่ายทอดแบ่งปันความรู้ให้เครือข่าย อ.ปากพูน และ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช สร้างชื่อเสียงให้ชุมชนในการทำธุรกิจสู่ชีวิตที่ยั่งยืน โดยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนกลยุทธ์การขายจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เป็นอย่างไรค่ะชาวซีพี โครงการนี้มีอะไรน่าเรียนรู้ ก็ต้องไปลุ้นว่าโครงการฯจะสามารถเข้ารอบต่อไปหรือไม่ อย่างไร