เปิด ‘7 เหตุผล’ ทำไมต้องอ่านรายงาน ความยั่งยืน

HIGHLIGHTS

  • สภาวการณ์ที่โลกรวนจนทุกคนสัมผัสได้ว่ากำลังเผชิญกับวิกฤตทางสภาพอากาศ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาสนใจ ESG กันจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งหากดำเนินการเกี่ยวกับ ESG แล้วก็สามารถบอกเรื่องราวผ่านรายงานความยั่งยืน หรือ SD Report ให้นักลงทุนได้รับรู้
  • SD Report แต่เดิมนั้นถูกจัดทำและเผยแพร่ออกมาพร้อมกับรายงานผลประกอบการประจำปี แต่ตอนนี้ได้ผนึกเป็นเล่มเดียวที่เรียกว่า ‘One Report’ ซึ่งข้อมูลภายในรายงานก็มีดีมากกว่าข้อมูล ESG เพียงอย่างเดียว
  • จึงอาจเรียกได้ว่า One Report เสมือนเป็นผู้ช่วยมือขวาสำคัญสำหรับประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
  • ในบางครั้งข้อมูลจาก SD Report หรือ One Report ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยให้ผู้ลงทุนได้เห็นมุมมองผู้บริหารในการรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพราะหากให้ความสำคัญน้อยเกินไปก็กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อบริษัทและพอร์ตการลงทุนในอนาคตได้

10 ปีก่อนหน้านี้ คนทั่วไป องค์กร หรือบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อาจมองเรื่องการทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting) เป็นเรื่องที่เสียเวลาที่ต้องลงลึกเพื่อดูรายละเอียดระหว่างการทำงานว่าภายในบริษัทมีความใส่ใจและปฏิบัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) แบบไหน แล้วยังต้องพยายามกระตุ้นเตือนให้คนในองค์กรตระหนักและเกิดการปฏิบัติกับ 3 มิตินี้อย่างจริงจัง เพราะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างปฏิเสธไม่ได้

ทว่าปัจจุบัน ESG กลายเป็นประเด็นหลักที่ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญมากกว่าจะเป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น ยิ่งไปกว่านี้ยิ่งมีผลโดยตรงต่อระดับปัจเจกบุคคล เนื่องจากเริ่มเห็นและได้รับผลกระทบโดยตรงกับตัวเอง เช่น ภาวะโลกรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่างๆ การเกิดภาวะฝุ่น PM2.5 ในหลายพื้นที่

และสิ่งที่น่าจะเป็นผู้ช่วยมือขวาได้อย่างดีกับนักลงทุน เพื่อดูว่า บจ.ไหน หรือหุ้นตัวใดให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังบ้าง นั่นคือ ‘รายงานความยั่งยืน’ หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ‘SD Report’

ดูรายงานความยั่งยืนจากที่ไหน?

รายงานความยั่งยืนโดยส่วนใหญ่แล้วจะสามารถหาได้จากลิงก์เว็บไซต์ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งตอนนี้สะดวกและเข้าถึงง่าย จากเดิมเป็นรูปเล่มที่ออกมาพร้อมกับรายงานประจำปี (Annual Report) และเมื่อก่อนเป็นเรื่องของการสมัครใจของ บจ. ทั้งนี้ นับจากปี 2564 เป็นต้นมา เพื่อเอื้ออำนวยให้ทั้ง บจ. และนักลงทุนสะดวกในการทำและหาข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศให้รวมรายงาน 56-1 และ 56-2 (รายงานประจำปี) และ SD Report ให้มาอยู่ในเล่มเดียวกันที่เรียกว่า ‘One Report’ โดยขอให้มีเรื่อง ESG อยู่ 2 หัวข้อใหญ่ คือ 1. การทำธุรกิจที่คำนึงการสร้างภาวะก๊าซเรือนกระจกหรือทำให้โลกร้อน และ 2. การรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights)

‘7 เหตุผล’ ทำไมเราต้องอ่าน SD Report 

1. ได้รู้วิธีคิดของผู้นำองค์กร

เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดจากตัวเองหรือจากองค์กร ในรายงานความยั่งยืนจะทำให้พบคำตอบความใส่ใจของผู้นำองค์กรต่อประเด็นเหล่านี้ว่า นอกจากมุ่งทำธุรกิจแล้ว ระหว่างทางของการดำเนินธุรกิจได้มอบนโยบายและส่งต่อแผนปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหา ป้องกัน หรือปกป้องในประเด็น ESG อย่างไรบ้าง เพราะต้องยอมรับว่าถ้าหัวเรือใหญ่ไม่ยอมเป็นกุญแจสำคัญเพื่อไขประตูให้พนักงานขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง ถึงเวลานั้นผู้ลงทุนจะเป็นผู้ได้คำตอบเองว่า สรุปแล้วบริษัทนี้ทำเพื่อการดำรงอยู่ขององค์กรเพียงอย่างเดียว หรือเป็นบริษัทที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง

2. เห็นความจริงใจในการดำเนินธุรกิจ 

เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยที่ต้องพิสูจน์หรือปฏิบัติออกมาให้เห็นได้ชัดว่าการทำธุรกิจที่คำนึงถึง ESG แบบจริงใจไม่ใช่ไก่กา โดยพร้อมคำนึงถึงผู้มีส่วนได้-เสียที่เกี่ยวข้องทุกด้าน ตั้งแต่ความปลอดภัยขณะทำงานของพนักงาน ชุมชนที่แวดล้อมกับที่ตั้งหรือโรงงานของบริษัท ไม่มีการใช้แรงงานที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมอยู่ในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด โดยการที่พยายามทำให้ ESG เกิดขึ้นในกระบวนการปฏิบัติงานหรือการทำธุรกิจ (In Process) ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะทำให้เห็นว่าบริษัทนี้คำนึงถึงความเท่าเทียมและไม่คิดที่จะเอาเปรียบผู้มีส่วนได้-เสียแต่อย่างใด

3.สร้างความน่าเชื่อถือกับคู่ค้าและพันธมิตร

การทำธุรกิจย่อมมีผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจมากมาย ตั้งแต่ซัพพลายเออร์ พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า พันมิตรทางธุรกิจ ฯลฯ แต่หากการดำเนินธุรกิจโดยหวังแต่เชิงพาณิชย์เป็นที่ตั้งโดยมิได้สนใจทางด้าน ESG เลย ถือเป็นโอกาสที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ จะได้เห็นมุมมองวิธีการบริหารและทำงาน เพื่อเป็นการรีเช็กไปในตัวได้ว่าบริษัทนั้นๆ มีความจริงใจในการทำธุรกิจกับเราขนาดไหน เพราะถ้าวันหนึ่งที่บริษัทมีส่วนสร้างผลกระทบต่อเรื่อง ESG อย่างไม่ได้ตั้งใจ หรือได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้าน ESG ใหม่ๆ จะได้เห็นบททดสอบและความจริงใจการทำธุรกิจร่วมกันได้ว่า บจ.นั้นๆ พร้อมที่จะแนะนำหรือร่วมช่วยแก้ไขไปด้วยกันหรือไม่ เพราะทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันได้ในระยะยาว จนท้ายที่สุดอาจจับมือกันช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแบบ Win Win และไม่ได้ทิ้งใครไว้กลางทาง

4. เป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจลงทุน

ช่วยนักลงทุนประเมินความเสี่ยงหรือความท้าทายในการประกอบธุรกิจของ บจ.นั้นว่ามีโอกาสเกิดความเสี่ยงในการทำธุรกิจที่กระทบกับ ESG มากน้อยขนาดไหน ที่สำคัญคือทำให้เห็นว่า บจ.ได้เตรียมตัวหรือมีแผนรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่นับวันต้องเผชิญความท้าทายหรือความเสี่ยงที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างไร ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อการลงทุนทั้งสิ้นว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังลงทุนในบริษัทนี้

โดยเฉพาะปัจจุบันยุคของ VUCA ที่โลกมีความผันผวนและพร้อมมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เกิดขึ้นใหม่เสมอ และแน่นอนว่าเหตุการณ์สุดวิสัยนี้อาจสร้างความเสียหายทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหากับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ต้องชำระค่าปรับตามกฎหมาย หรือเป็นการชำระเพื่อการฟื้นฟูกระบวนการทำงานหรือสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน

และสิ่งที่มีมูลค่ามากกว่านั้นคือมูลค่าความน่าเชื่อถือของบริษัท เพราะถ้าเกิดเหตุไม่คาดคิดจริง เช่น บริษัทที่มีการใช้สารเคมีผสมในกระบวนการผลิต แต่เกิดการรั่วไหลระหว่างการผลิตและส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม และชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบโรงงานหรือบริษัท ถ้าไม่มีแผนงานที่รองรับเหตุสุดวิสัย นอกจากต้องชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว อาจส่งผลกระทบกับมูลค่าของบริษัทที่เป็นเหตุให้นักลงทุนไม่มีความมั่นใจต่อบริษัทนี้แล้ว เพราะอนาคตถ้าเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้นอีก บริษัทอาจต้องนำเงินจากการดำเนินงานไปเสียค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายแก้ปัญหาวนเวียนอยู่อย่างนั้น

5. ช่วยสื่อสารและผนึกความร่วมมือเรื่อง ESG 

การที่บริษัททำเรื่อง ESG อย่างจริงจังและมีการสื่อสารหรือถ่ายทอดข้อมูลออกมาภายนอก เท่ากับบริษัทได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ไปสู่วงกว้างมากขึ้น และในขณะเดียวกันอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้ผู้มีส่วนได้-เสียในภาคอื่นๆ เกิดการตระหนัก จนนำไปสู่การใส่ใจและผลักดันให้เกิดการปฏิบัติเรื่อง ESG ทั้งในแง่ของหน่วยงานตนเองหรือแบบปัจเจกบุคคลในอนาคตข้างหน้าได้

6. เพิ่มมูลค่าให้กับทุกภาคส่วน

เกิดมุมบวกในหลายภาคส่วน ตั้งแต่มุมขององค์กรก็ได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้มีส่วนได้-เสียและนักลงทุน นอกจากนั้นยังช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจต่างๆ เช่น ช่วยสร้างโอกาสหรือสร้างงานให้กับคนในชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบที่ตั้งหรือโรงงานการผลิตของบริษัท เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ หรือในแง่ของนักลงทุนก็ทำให้รู้สึกเบาใจได้ส่วนหนึ่ง ที่หากลงทุนในบริษัทที่คำนึง ESG เท่ากับเป็นการลงทุนด้วยการตั้งรับและบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไปแล้วส่วนหนึ่ง หรือในมุมของคู่ค้าหรือพันธมิตรก็เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและทำธุรกิจที่ลดความกังวลว่าจะถูกเอาเปรียบเกินไป

7. โลกสบาย เราก็สบาย 

เมื่อทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เสมือนเป็นจิ๊กซอว์ส่วนเล็กๆ แต่เมื่อทุกคนช่วยกันทำ พอนำมาเรียงต่อกันก็จะช่วยทำให้เกิดผลในเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่กับโลกใบนี้ได้ แม้อาจจะไม่ได้ทำให้แก้ปัญหาโลกร้อนได้ทั้งหมดหรือในระยะเวลาที่รวดเร็ว แต่ก็ยังทำให้เกิดการชะลอการเกิดปัญหาที่รุนแรงได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลดีต่อโลกใบนี้ที่จะน่าอยู่ขึ้น เมื่อโลกสดใสตัวเราเองก็จะสดใสไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้นเมื่ออ่านข้อมูลทางการเงินใน One Report แล้ว อย่าลืมให้ความสำคัญกับ SD Report ด้วย ไม่ว่าจะในฐานะพลเมืองโลกหรือฐานะนักลงทุน เชื่อได้ว่ามีประโยชน์ไม่มากก็น้อยแน่นอน

อ้างอิง: