RISC เปิด “Well-Being Design & Engineering Program” ครั้งแรกในไทย ปั้นนักสุขภาวะ สร้างความเป็นอยู่ที่ดี

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) เปิดเผยว่า ล่าสุดได้เปิดตัว “Well-Being Design & Engineering Program” หลักสูตรพิเศษครั้งแรกในไทย ประกาศสร้างผู้ขับเคลื่อนด้านความเป็นอยู่ที่ดี หรือ “New Army of Well-Being” ระดมมืออาชีพถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ความรู้เชิงลึกจากงานวิจัย พร้อมประสบการณ์ในการใช้และประยุกต์ศาสตร์ต่างๆ รับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

“Well-Being” สำหรับภาษาไทย มีหลายคำที่ใช้ คือ “สุขภาวะ – ความเป็นอยู่ที่ดี – ความอยู่ดีมีสุข” กล่าวโดยรวมก็คือการมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเป็นปกติสุขหรืออย่างมีความสุขนั่นเอง ทว่า ในปัจจุบัน ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะพลิกผันอย่างไม่ทันตั้งตัว ทั้งการเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 หรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือความไม่สมดุลของโลก การเปลี่ยนแปลงเชิงประชากร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต พฤติกรรม สุขภาพจิต และความเครียด ฯลฯ

“Well-Being” จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและเป็นที่มาของการจัดทำ “Well-Being Design & Engineering Program” โดย ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC เพื่อสร้าง “New Army of Well-Being” หรือผู้ขับเคลื่อนสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับทุกชีวิตอย่างยั่งยืน (For All Well-Being)

หลักสูตร “Well-Being Design & Engineering Program” ที่จัดทำขึ้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกลุ่มคน “New Army of Well-Being” หรือผู้ขับเคลื่อนเพื่อร่วมสร้างความอยู่ดีมีสุข เพราะ RISC มีองค์ความรู้เชิงลึกจากงานวิจัย และประสบการณ์ทำงานในการประยุกต์ความรู้ส่งเสริมให้เกิด Well-Being ในโครงการจริง ด้วยการใช้องค์ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์หลายศาสตร์ กระบวนการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน และเรียนรู้จากตัวอย่างโครงการจริงจนสามารถนำความรู้ไปใช้งานจริงได้ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี และความอยู่ดีมีสุขครบด้าน ที่ไม่ใช่เพียงการสร้างความรู้สึก “มีความสุข” เท่านั้น แต่ยังผสานกับวิศวกรรมงานระบบเชิงประยุกต์ทั้งกระบวนการวางแผนและจัดการภาพรวม เชื่อมโยงทุกส่วนของการพัฒนาโครงการได้ เพื่อทำให้อาคารหรือโครงการ นำไปสู่ความอยู่ดีมีสุข (Well-Being) ได้อย่างยั่งยืน

“อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของหลักสูตรนี้ คือความเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น และเมื่อเกิดปัญหาจะแก้อย่างไร RISC จึงได้คิดและสร้าง Resilience Framework เพื่อการประเมินและวางแผนตั้งแต่ต้น ในการแก้ปัญหาเฉพาะเจาะจง เช่น น้ำท่วมหรือน้ำแล้ง และพบว่ามี solution มากมายในการแก้ปัญหาสามารถเป็น ทางออก บาง solution ไม่ต้องพัฒนานำมาใช้ได้เลย บางปัญหามี solution แต่แพง หรือบางปัญหาไม่มี solution ก็ต้องพัฒนาใหม่ หรือ เป็นการเจาะลึกปัญหา ทำให้รู้ทั้งวิธีแก้ไขและป้องกัน ดังนั้น แนวทาง “Resilience Framework” ถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้าง smart city หรือเมืองอัจฉริยะ หรือการพัฒนาโครงการต่างๆ  สามารถนำไปใช้ได้จริง สิ่งเหล่านี้สำคัญ” รศ.ดร.สิงห์ กล่าว

โดยการบรรยายตลอดหลักสูตรจะได้พบกับ “ผู้เชี่ยวชาญการสร้างความอยู่ดีมีสุข” ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการจริงตามความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ทำงานตลอดกระบวนการจนเกิดการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ในทุกแง่มุมของการประยุกต์ความรู้เชิงลึกที่พร้อมจะแบ่งปัน ทั้งผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่คลุกคลีและทำงานร่วมกับ RISC นำความรู้เชิงลึกมาประยุกต์ใช้ในโครงการจริง เช่น คุณเกชา ธีระโกเมน ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด, ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และทีมนักวิจัย RISC ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ความรู้ เช่น ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส และ Innovation Integration, ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ ฝ่ายบูรณาการงานวิจัยเพื่อการเผยแพร่ หัวหน้า Happiness Science Hub, คุณ วสุธา เชน สถาปนิกวิจัยอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C, Fitwel Ambassador และ WELL AP และ คุณ ทิพทับทิม ภูมิพาณิชย์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส Sustainable Building Materials, RISC เป็นต้น

สำหรับหลักสูตร Well-Being Design & Engineering Program จะเริ่มเรียนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2566 (วันเริ่มเรียน จะประกาศให้ทราบอีกครั้ง) โดยทำการเปิดรับสมัครคนที่มีความมุ่งมั่นเป็นหนึ่งใน “New Army of Well-Being” หรือ ผู้ขับเคลื่อนสร้างความอยู่ดีมีสุข ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 มกราคม 2566 เท่านั้น  และจะประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าเรียนโดยจะพิจารณาตามความเหมาะสม (ฟรีแบบมีเงื่อนไข)