สำรวจพบคนไทย 31% พร้อมเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ EV สูงสุดในภูมิภาค SEA

สำรวจเผยผู้บริโภคไทย เปิดใจรับรถยนต์ EV มากสุดใน SEA พร้อมใช้เป็นยานพาหนะหลัก เมื่อเปลี่ยนใหม่หลังจากนี้ หวังชาร์จเต็มใน 10-60 นาที วิ่งไกลสุด 300-500 กม. สถานีชาร์จ EV โดยเฉพาะ โจทย์ใหญ่คลายกังวลผู้บริโภคในภูมิภาค ยอมตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

ดีลอยท์ (Deloitte) บริษัทด้านบริหารจัดการ และนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่การปรับตัวของภาคธุรกิจ

เผยรายงาน Global Automotive Consumer Study 2023 สำรวจความเห็นและพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกเกี่ยวกับยานยนต์ โดยมีส่วนการเจาะลึกผู้บริโภคในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) หรือ Southeast Asia Perspectives

โดยสำรวจระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 17 ตุลาคม 2022 ฐานผู้บริโภค 26,000 คน จาก 24 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นใน SEA จำนวน 6,048 คน ทั้ง ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคคนไทย 1,009 คน

คนไทย พร้อมใช้รถยนต์ EV เป็นยานพาหนะหลักมากสุดใน SEA แต่รถน้ำมัน ยังกินแชร์ส่วนใหญ่

ประเทศ

EV

PHEV

HEV

สันดาป

1. ไทย 31% 19% 10% 36%
2. เวียดนาม 19% 18% 7% 49%
3. สิงคโปร์ 13% 13% 36% 34%
4. อินโดนีเซีย 9% 15% 16% 59%
5. มาเลเซีย 4% 14% 23% 58%
6. ฟิลิปปินส์ 2% 10% 13% 72%

ที่มา: Deloitte สำรวจความต้องการใช้รถยนต์คันต่อไป ของผู้บริโภค 6 ประเทศในภูมิภาค SEA 6,048 คน เฉพาะไทย 1,009 คน/เผยแพร่ พฤษภาคม 2566  

ใจความสำคัญจากผลสำรวจ พบว่า ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ น้ำมัน ยังคงเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคใน SEA ส่วนไทย เป็นประเทศที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ EV เป็นยานพาหนะคันต่อไปมากที่สุดในภูมิภาค

 เหตุผลสำคัญ คือ ต้องการลดรายจ่ายด้านราคาเชื้อเพลิง โดยจะตัดสินใจเลือกซื้อรถคันต่อไปจากคุณภาพผลิตภัณฑ์, คุณสมบัติของรถ และภาพลักษณ์ของแบรนด์

ส่วนความกังวลที่ผู้บริโภคทั้ง 6 ประเทศใน SEA ล้วนเห็นตรงกัน คือ ความพร้อมของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ โดยผู้บริโภคต้องการสถานีชาร์จที่สร้างขึ้นมาสำหรับรถยนต์ EV โดยเฉพาะ

ขณะที่ ดีลเลอร์ ยังเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความไว้ใจมากที่สุด เมื่อตัดสินใจซื้อรถยนต์มือ 1 ในรอบการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่คันถัดไป

เจาะจงไปที่ คนไทย ยังพบว่ารับได้กับระยะเวลารอชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่ระหว่าง 10-60 นาที และคาดหวังระยะทางวิ่งไกลสูงสุด ต่อรอบการชาร์จเต็ม 300-500 กิโลเมตร โดยต้องการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน เป็นช่องทางหลักในการชำระค่าชาร์จ

ส่วนการเปิดใจที่จะอนุญาตให้รถยนต์คู่ใจ เชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ผลิต และผู้ให้บริการหลังการขาย ไทย เป็นกลุ่มที่มีผู้บริโภคให้ความร่วมมือมากที่สุดในภูมิภาค

เพราะคาดหวังประโยชน์ด้านการซ่อมบำรุง, การประเมินค่าบำรุงจากนิสัยการขับขี่, คำแนะนำที่เฉพาะสำหรับการลดค่าซ่อม และการแนะนำเส้นทางขับที่ปลอดภัย

ข้อมูลที่คนไทยยอมรับได้ ในการให้รถแลกเปลี่ยนกับการเชื่อมต่อ ได้แก่ ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometric Data) และเซนเซอร์ต่าง ๆ ของตัวรถ

หากต้องมีการจ่ายค่าบริการเสริมอื่น ๆ เพื่อการเชื่อมต่อ ผู้บริโภคไทย และส่วนใหญ่ของภูมิภาค SEA เลือกที่จะจ่ายตามจริงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ การจ่ายครั้งเดียว และจ่ายรายเดือน

มงคล สมผล Automotive Sector Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ปรากฏในรายงาน เป็นที่น่าจับตามองมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย ที่มีห่วงโซ่อุปทานแยกย่อยออกไปในหลาย ๆ มิติ มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนมากมาย

ความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคจากผลสำรวจ จะเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว อย่างไรก็ดี ทุกอย่างอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งปัจจัยด้านราคา, พลังงาน, เทคโนโลยี และความต่อเนื่องของการสนับสนุนจากภาครัฐ

อ่านรายงานฉบับเต็มDeloitte

ที่มา Marketeeronline