KTB มอง AI จิ๊กซอว์สำคัญหนุน Healthcare ไทยโตก้าวกระโดดใน 5-10 ปี

Krungthai Compass มองว่า Al จะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกๆ กระบวนการทำงาน และจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งให้องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ให้สามารถเติบโตได้ในระยะยาว ไม่เว้นแม้ในอุตสาหกรรมการแพทย์แสะการดูแลสุขภาพ (Healthcare)

น.ส.สุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS กล่าวว่า เทคโนโลยี Al เข้ามาเป็นจิกซอว์สำคัญที่เข้ามาช่วยส่งเสริมให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์มีประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น และจะมีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่จะเข้ามาช่วยต่อยอดและผลักดันให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกมิติในระยะ 5-10 ปีข้างหน้านี้

โดย Al สามารถเข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรม Healthcare ได้ทั้ง Supply Chain ทั้งอุตสาหกรรมยา (Pharmaceutical), อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ (Medical Device), อุตสาหกรรมประกันภัย (Payor) และธุรกิจบริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล (Provider)

“ผลสำรวจผู้บริโภคกว่า 17,000 คน จาก 17 ประเทศทั่วโลก โดย KPMG ระบุว่า 44% ของกลุ่มตัวอย่างมีความยินดีที่จะเชื่อมั่นและยอมรับการใช้ AI ในภาคธุรกิจ Healthcare สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ อาทิ Security, HR และการใช้งาน AI โดยทั่วไปที่ผู้บิโภคมีความเชื่อมั่นราว 34-40%”

ทั้งนี้ ประเมินว่าตลาด AI ในภาคธุรกิจ Healthcare ทั่วโลก จะพุ่งขึ้นไปแตะ 1.78 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2573 ส่วนของไทย คาดว่าในปี 2577 มูลค่าตลาดของ AI ในอุตสาหกรรม Healthcare ของไทยจะมีมูลค่า 352.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าลงทุนสะสมในรอบ 10 ปีจากนี้ (2567-2577) ถึง 1,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านนายกนิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS กล่าวว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้กลุ่มธุรกิจ Healthcare จำเป็นต้องนำเทคโนโลยี AI เข้ามาประยุกต์ใช้มีทั้งหมด 5 ปัจจัย ได้แก่

1. ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ : องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ สะท้อนจากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากร

2. ความต้องการบริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง : ในปี 66 ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เมื่อประชากรสูงอายุมีมากขึ้น ความต้องการบริการด้านสาธารณสุขจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นจากโอกาสในการเจ็บป่วยที่สูงขึ้นตามอายุ

3. ข้อมูลด้านสุขภาพมีมากขึ้น : ปัจจุบันมีการประเมินว่าเกือบ 1 ใน 3 ของข้อมูลทั้งหมดในโลกนั้นมาจากกลุ่มธุรกิจ Healthcare การต่อยอดข้อมูลดังกล่าวที่มีขนาดใหญ่ด้วย AI จึงเป็นเรื่องมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ

4. ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นต่อเนื่อง : ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ต่อหัว ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นกับคนไทยเช่นกัน ดังนั้น การใช้ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษา และทุ่นระยะเวลารักษา ตลอดจนการฟื้นตัวอาจช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ในอนาคต และส่งเสริมให้คนเข้าถึงการให้บริการด้านสาธารณสุขได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น ยังอาจเป็นการสร้างภาระให้กับภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณมาด้านสาธารณสุขมากขึ้น โดยไทยมีสัดส่วนของการใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยภาครัฐต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศถึง 73% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 51.3% นอกจากนี้ ภาครัฐของไทยยังมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงปีละ 4.3% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 3.2%

“ตัวแปรทั้ง 2 มิติ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของภาครัฐในการนำ AI เข้ามาใช้ในภาค Healthcare เพื่อลดต้นทุนด้านสาธารณสุขของประเทศ ส่งผลต่อเนื่องให้ประชาชนตลอดจนภาครัฐสามารถลดภาระด้านค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพได้” นายกนิศ กล่าว

5. การแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ : เป็นเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากวงการแพทย์ทั่วโลก โดยเป็นการผสานเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ากับการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์ ที่ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางคลินิกและข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ เพื่อให้เกิดการรักษาพยาบาลที่แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยให้การวิจัยและพัฒนาการแพทย์ทั้งสองด้านนี้รุดหน้า คงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีด้าน Al ที่มีส่วนสำคัญที่จะเข้ามารวบรวม ประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมที่เป็น Big Data ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ

“การยกระดับธุรกิจ Healthcare ของไทยจะสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ การประสานกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา Al ด้านการแพทย์ ควบคู่กับการลงทุนจากภาคเอกชนที่มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ และทรัพยากรเงินทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนอย่างบูรณาการไปในทิศทางเดียวกันทั้ง Ecosystem” นายกนิศ กล่าว

5 เทรนด์ AI ด้านสุขภาพที่มาแรงและน่าจับตามอง ได้แก่

1. Robot Assisted Surgery หรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด : การศึกษาชี้ว่าการผ่าตัดด้วย Al-assisted Robotic สามารถลดการสูญเสียเลือดได้ 20% ลดระยะเวลาผ่าตัดได้ 15% และส่งผลให้ผู้ป่วยมีระยะเวลาในการพักฟื้นที่สั้นลง 20% สำหรับมูลค่าตลาดของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดทั่วโลก จะมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดเทคโนโลยี AI ด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก โดยคาดว่าจะขึ้นไปแตะระดับ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2573 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่าปีละ 30-40%

2. Virtual Nursing Assistants/ Chatbot : การนำ AI มาใช้ในงานบริการและดูแลผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูล หรือข้อสงสัยต่างๆ ด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับมูลค่าตลาดของ Virtual Nursing Assistants ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วง ปี 2565-2573 กว่า 40% ต่อปี โดยจะขึ้นไปแตะระดับ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2573 คิดเป็น 1 ใน 5 ของมูลค่าตลาดเทคโนโลยี AI ด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก

3. AI ช่วยวินิจฉัยโรค ทั้งโรคกับชีวิตประจำวัน, โรคมะเร็ง, โรคทางพยาธิวิทยา และโรคปอด

4. การใช้ AI ในการค้นคว้าและพัฒนายารักษาโรค : AI จะเข้ามาช่วยเร่งให้กระบวนการค้นคว้ายาใหม่เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยอาจร่นระยะเวลาเหลือเพียง 1-2 ปี สำหรับมูลค่าตลาดของ Al in Drug discovery ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2565-2573 กว่า 31.5% ต่อปี โดยจะขึ้นไปแตะระดับ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2573

5. Hospital Workflow Management หรือการนำ AI มาช่วยในการบริหารจัดการ : จากการศึกษาชี้ว่า 1 ใน 2 ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ Burnout เป็นผลมาจากการต้องใช้ 26-41% ของเวลางานไปกับงานด้านเอกสาร ซึ่งสามารถนำ AI มาใช้เป็นผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดการงานต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยได้ สำหรับมูลค่าตลาดของ Virtual Nursing Assistants ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2565-2573 กว่า 35% ต่อปี โดยจะขึ้นไปแตะระดับ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 คิดเป็น 15% ของมูลค่าตลาดเทคโนโลยี AI ด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์