แบงก์ชาติมองการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ยังไม่มีนัยที่น่ากังวล

การปรับทิศนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจากสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลก ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่านับจากต้นปีมาแล้วราว 3% โดยล่าสุดเงินบาทวันนี้ (12 พฤษภาคม) เคลื่อนไหวอยู่ที่ 34.73 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับในช่วงต้นปีที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์

การอ่อนค่าของเงินบาททำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าอาจไปซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อในประเทศที่เร่งตัวขึ้น และทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาให้ความเห็นถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทล่าสุดว่า การอ่อนค่าของเงินบาทยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคและไม่มีนัยที่น่ากังวล

ชนานันท์ สุภาดุลย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. ระบุว่า ธปท. ได้ติดตามปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่าเงินบาทมีการเคลื่อนที่ผิดปกติไปจากกลไกตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ ธปท. ยังคงให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่จะติดตามปัจจัยที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดต่อไป

“ค่าเงินบาทมีความเชื่อมโยงกับโลกสูง การปรับนโยบายของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก จึงมีผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้ถูกกระทบคนเดียว เป็นทั้งภูมิภาค ด้านกลไกตลาดก็ยังทำงานได้ปกติ ทำให้ในภาพรวมเรายังมองว่าไม่น่ากังวล แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป หากมีความจำเป็นเราก็พร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีเข้าดูแลตามความเหมาะสม” ชนานันท์กล่าว

ในวันเดียวกัน ธปท. ยังประกาศความคืบหน้าการผลักดันระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) ใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การแลกเปลี่ยนเงินมีความสมดุลมากขึ้นทั้งด้านเงินขาเข้าและขาออก เพิ่มความสะดวกในการลงทุนและทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมของภาคเอกชน

อลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ผลักดันระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) ใหม่มาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยโดยผ่อนคลายเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ธปท. มีแผนจะผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  1. เปิดให้โอนเงินตราต่างประเทศ (FX) ออกไปยังต่างประเทศได้เสรีขึ้น และชำระ FX ในประเทศได้ตามความจำเป็น

1.1 ให้สามารถโอน FX ออกไปต่างประเทศได้ตามภาระที่มี ยกเว้นเพียงธุรกรรมที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การชำระค่าสินทรัพย์ดิจิทัล การส่ง FX ออกไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงินบาทกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ (THB Offshore)

1.2 ยกเลิกการมีวงเงินโอน FX ออก โดยให้เหลือเฉพาะวงเงินของการส่งเงินให้เปล่าแก่บุคคลในต่างประเทศได้ไม่เกิน 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

1.3 ให้นิติบุคคลสามารถซื้อ FX เพื่อชำระในประเทศได้ตามความจำเป็น โดยไม่ต้องขออนุญาต เช่น การชำระค่าสินค้าบริการในประเทศเป็น FX เพราะต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก (เช่น น้ำมัน)

  1. ขยายขอบเขตการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้กว้างขึ้น โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีความเสี่ยงจากการมีรายรับรายจ่ายสกุล FX กับต่างประเทศโดยตรงเท่านั้น แต่สามารถรวมความเสี่ยง FX อื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางตรงได้ด้วย เช่น ความเสี่ยงจากการชำระค่าสินค้าที่อ้างอิงราคาตลาดโลกกับคู่ค้าในประเทศ ความเสี่ยงจากการกู้ยืมเงินสกุลอื่นที่ไม่ตรงกับรายได้ของบริษัท (Currency Mismatch)

นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะสามารถใช้ประมาณการรายรับรายจ่ายสกุล FX ในอนาคต และความเสี่ยง FX ของกิจการในเครือ มาป้องกันความเสี่ยงได้ จากเดิมที่ทั้งหมดนี้ต้องขออนุญาตก่อน

  1. ไม่ต้องแสดงเอกสารการทำธุรกรรม FX หากธนาคารเข้าใจลักษณะธุรกิจและความเสี่ยง FX ของลูกค้าอยู่แล้ว เช่น กลุ่มที่มีวงเงิน FX หรือมีธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารอยู่แล้ว

อลิศรากล่าวอีกว่า การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นจะช่วยให้เกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินของประเทศมีความสมดุลมากขึ้นระหว่างด้านขาเข้าและขาออก อีกทั้งยังช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

ทั้งนี้ การผลักดัน New FX Ecosystem ซึ่งเป็นนโยบายระยะยาวที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีภูมิคุ้มกันป้องกันผลกระทบจากค่าเงินได้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ภาวะตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูงและคาดเดาได้ยาก

โดยในระยะถัดไป ธปท. ยังมีแผนที่จะปรับ FX Service Provider Landscape ผ่านการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการธุรกรรม FX ที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) เช่น Money Changer (MC) และ Money Transfer (MT) เพื่อให้ลูกค้ารายย่อยและ SMEs เข้าถึงบริการ FX ได้สะดวกขึ้น และช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม โดยมีแนวทางเบื้องต้น ได้แก่

  1. ขยายขอบเขตการให้บริการ FX ของ Non-Bank ในปัจจุบัน เช่น ให้ทำธุรกรรมได้หลากหลายวัตถุประสงค์ขึ้น
  2. ขยายขอบเขตของใบอนุญาตให้รองรับบริการรูปแบบใหม่ เช่น ซื้อขาย FX ผ่านแพลตฟอร์ม
  3. ปรับแนวทางการอนุญาต Non-Bank ในการให้บริการธุรกรรม FX ให้ยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ Non-Bank สามารถให้บริการได้หลากหลายและปรับเปลี่ยนธุรกิจได้คล่องตัวยิ่งขึ้น

 

ที่มา THE STANDARD WEALTH