เปิดเทปแรกสารคดีพิเศษชุด “80 ปี IE Chula”สัมภาษณ์ “ดร.อาชว์ เตาลานนท์” รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะพี่เก่าวิศวฯ อุตสาหการ จุฬาฯ รุ่นปี พ.ศ.2498 เล่าเรื่องย้อนอดีตสู่บทเรียนการปรับตัวในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

สารคดีพิเศษชุดนี้ จัดทำขึ้นในนาม “Forever Young IE Intania” เนื่องในวาระที่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอายุครบ 80 ปี ในปี พ.ศ.2565 เนื่องจากก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2485

“ดร.อาชว์ เตาลานนท์” เข้าเรียนวิศวฯ จุฬาฯ ในปี พ.ศ.2498 ยุคสมัยที่แผนกวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ปิดตัวไปราวหนึ่งทศวรรษจากภัยสงครามโลก

ต้นฉบับบทสัมภาษณ์ “ดร.อาชว์ เตาลานนท์” มีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ผู้จัดทำได้แบ่งเป็น 2 ตอน ๆ ละประมาณ 30-40 นาที

WEARECP เห็นว่าบทสัมภาษณ์ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราว ย้อนรำลึกอดีต บอกเล่าประสบการณ์ และถือเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าไม่เฉพาะเพียงศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เท่านั้น แต่ยังเป็นบทเรียนสำหรับการปรับตัวในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้จึงขออนุญาตนำมาแบ่งปันแก่เพื่อน ๆ ชาวซีพี

ขอขอบคุณ facebook page IE จุฬาฯ 80 ปี (เฉพาะกิจ)

ในตอนที่ 1 นี้ ดร.อาชว์ ย้อนความทรงจำสมัย​เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ในสมัยนั้นมีภาควิชาหลักแค่ไฟฟ้า เครื่องกล เหมืองแร่ ช่วงใกล้ปี 2500 เป็นยุคหลังสงคราม เมืองไทยสมัยนั้นเป็นเมืองเกษตร ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไม่มีอุตสาหกรรม เราขายข้าว ไม้สัก ก่อนหน้านั้น Export ขายช้าง อุตสาหกรรมที่มีในยุคนั้นคือโรงสีข้าว โรงเลื่อยตามริมแม่น้ำ ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมีโรงน้ำแข็ง เมืองชลบุรีมีโรงไม้ขีด นี่คืออุตสาหกรรมหลักของประเทศ อุตสาหกรรมเกิดขึ้นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ผมเรียนอยู่ปี 2 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกาารก็เปิดใหม่ ผมเป็นรุ่นที่ 2 ของภาควิชานี้ มองเห็นว่าอุตสาหกรรมกำลังเปิด ต่อไปบ้านเราจะมีโรงงานอุตสาหกรรม ผมชอบเห็นเครื่องจักรทำงาน เห็นอะไรเคลื่อนไหว 

นอกจากนี้ดร.อาชว์ ยังได้เล่าถึงบรรยากาศสภาพแวดล้อมของบ้านเมือง มหาวิทยาลัย และประสบการณ์ในยุคนั้นไว้อย่างน่าสนใจฟังเต็ม ๆ ได้ในบทสัมภาษณ์ตอนที่ 1

และในตอนที่ 2 ดร.อาชว์เล่าประสบการณ์การนำความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาอุตสาหการไปใช้ประโยชน์ในการทำงาน เริ่มต้นจากการทำงานโรงงานน้ำตาล สู่การเป็นเจ้าหน้าที่คนแรกของศูนย์เพิ่มผลผลิตของกระทรวงอุตสาหกรรม และไม่หยุดพัฒนาตนเองเรียนรู้ทักษะจากองค์กรกรรมกรระหว่างประเทศ (ILO) ในสมัยนั้น ปูพื้นฐานสู่ผู้ให้คำปรึกษาบริษัทใหญ่ ๆ ในสมัยนั้นหลายแห่ง จวบจนได้มาร่วมงานกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วยเห็นวิสัยทัศน์ของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ว่า “อยากจะเห็นเมืองไทยเจริญ ช่วยให้คนยากจน เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้” ด้วยความรักและอยากช่วยชาติจึงทำให้ดร.อาชว์ตัดสินใจตกลงร่วมงาน

พร้อมทิ้งท้ายองค์ความรู้จากวิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เปิดมุมมองที่กว้างในโลกธุรกิจได้