เจาะลึกอนาคต ‘อุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่’ ของไทย ที่ต้องฝากไว้กับ Personalized Healthcare

ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ป่วยทุกรายที่ป่วยด้วยโรคชนิดเดียวกันจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษาตามอาการบนมาตรฐานเดียวกัน (One-size-fits-all approach) จนกระทั่งความก้าวหน้าในเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่มีส่วนปฏิวัติแนวทางการดูแลสุขภาพ ขยายทางเลือกการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย

โดยหนึ่งในความก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่ก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญคงหนีไม่พ้น การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล หรือ Personalized Healthcare

แต่เชื่อว่า ณ เวลานี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล หรือ Personalized Healthcare และจะดีแค่ไหนหากประเทศไทยสามารถก้าวสู่การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลได้อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต วันนี้เรามีบทความที่จะอธิบายถึงภาพนั้นให้ทุกคนได้หเนภาพไปพร้อมกัน

รู้กันก่อน การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล Personalized Healthcare คืออะไร?

การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล เกิดจากการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาความรู้ทางพันธุกรรมและเจาะลึกความหลากหลายของโรคชนิดต่างๆ ด้วยแนวคิดที่เน้นการเก็บข้อมูลจากพื้นฐานทางสุขภาพและประวัติการรักษาของผู้ป่วยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม จนค้นพบว่าถึงแม้ผู้ป่วยแต่ละรายจะป่วยจากโรคชนิดเดียวกันและแสดงอาการเหมือนกัน ก็อาจมีสาเหตุของโรคต่างกัน
ดังนั้น การใช้แนวทางการดูแลสุขภาพและการรักษาที่สอดคล้องกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยแต่ละราย จึงนับเป็นปัจจัยที่สำคัญมากของอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ เพราะร่างกายของแต่ละคนล้วนมีความต่างด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิต
เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา แพทย์จึงสามารถพยากรณ์ความเสี่ยงการเกิดโรคบางชนิดในอนาคต วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ทั้งยังสามารถเลือกแนวทางการรักษาที่ตอบโจทย์ความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างตรงจุดด้วย

ดัชนีประเมินความพร้อมการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล เกิดขึ้นแล้ว!

และที่ผ่านมา เมื่อการดูแลสุขภาพรักษาแบบจำเพาะบุคคล มีความสำคัญมากขึ้น จึงเกิดการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดอันดับความพร้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 11 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเรียกว่า ดัชนีประเมินความพร้อมการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Asia-Pacific Personalized Health Index) เพื่อเร่งพัฒนาการรักษาแบบจำเพาะบุคคลให้กลายเป็นแนวทางพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ดัชนีประเมินความพร้อมการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล สามารถใช้เป็นแนวทางประกอบการกำหนดนโยบายเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนนำไปต่อยอดให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ ล่าสุด ข้อมูลจากดัชนีประเมินความพร้อมของการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “Focus Area Country” ร่วมกับมาเลเซีย จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นของการนำแนวทางการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลมาปรับใช้ ทั้งนี้ดัชนีดังกล่าวใช้เกณฑ์พิจารณาความพร้อมออกเป็น 4 ด้านหลัก คือ นโยบาย ข้อมูล บริการ และเทคโนโลยี โดยที่ภาพรวมประเทศไทยมีความพร้อมอยู่ในลำดับที่ 7 จากเมื่อเทียบประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 11 ประเทศ

เจาะลึก ความพร้อมแต่ละด้าน สำคัญอย่างไร ต่อการผลักดันให้ Personalized Healthcare ให้ไปต่อได้

อย่างไรก็ดี ความพร้อมในแต่ละด้านล้วนมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อวงการการแพทย์และผู้ป่วย ดังนี้
·        ด้านนโยบาย เป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ ผลักดันงบประมาณจากรัฐ ช่วยเหลือทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและแนวทางรักษา รวมถึงลดช่องว่างทางสังคมที่ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสิทธิการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล
·        ด้านข้อมูล ชี้วัดศักยภาพทางด้านการบริหารและการจัดเก็บฐานข้อมูลของผู้ป่วย การบันทึกข้อมูลสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Health Records: EHRs) การรวบรวมสถิติและจัดการข้อมูลด้านสุขภาพต่างๆ เช่น การลงทะเบียนฐานข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และการอำนวยสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยอย่างทั่วถึงและครอบคลุม
·        ด้านบริการ ส่งเสริมการให้บริการทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา โอกาสการเข้าถึงการรักษาที่โรงพยาบาล การดูแลรักษาทางไกล (Telemedicine) การได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที การลงทะเบียนผู้ป่วย และการได้รับคำแนะนำตามอาการของโรคแบบจำเพาะบุคคล
·        ด้านเทคโนโลยี เน้นการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับสวมใส่ แอปพลิเคชั่น แพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาสนับสนุนการรักษาแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งประเทศไทยควรเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้าต่อไป
นอกจากความพร้อมทั้ง 4 ด้านหลักแล้ว หากเจาะลึกลงไปจะพบว่า ในแง่กลยุทธ์ด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Personalized Health Strategy) ประเทศไทยได้ครองอันดับ 1 ร่วมกับประเทศไต้หวัน ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในด้านนโยบาย ประเทศไทยยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพัฒนา เช่น เรื่องการเลื่อนสถานะทางสังคม (Social Mobility) ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 8 และยังต้องการการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากสุขภาพที่ดีของประชาชนแปรผันตามปัจจัยทางสังคม เช่น แหล่งที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และความสมบูรณ์ทางโภชนาการ
ส่วนด้านการบริการ โดยเฉพาะงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D Expenditure) ของการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ความพร้อมของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 เป็นต้น ดังนั้น ผลการศึกษาจากดัชนีดังกล่าวจึงเป็นแนวทางชี้ให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน รวมถึงเสนอแนวทางปรับปรุงและพัฒนาการเข้าถึงการดูและสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น

 

ที่มาภาพและข้อมูล : Praornpit Katchwattana  https://www.salika.com