ซีพีน่าน ผนึกกำลัง True จัดกิจกรรมปฐมนิเทศและอบรมพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมจัดการขยะ ภายใต้ “โครงการประกวดโมเดลนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะในพื้นที่ จ.น่าน (YIN-D)”


เมื่อเร็วๆนี้ โครงการประกวดโมเดลนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะในพื้นที่ จ.น่าน (YIN-D) เป็นโครงการปลูกฝังให้น้อง ๆ นักเรียนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จ.น่าน และมีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา นำเสนอผ่านการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และออกแบบแนวคิดเพื่อช่วยเหลือสังคม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงในชุมชน และโรงเรียนในจังหวัดน่าน โดยซีพีน่านมีการจัดกิจกรรมปฐมนิเทศโครงการ YIN-D (Young Innovator for Nan Development) ณ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้แก่น้อง ๆ ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 17 ทีม รวม 83 คน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ณันศภรณ์ นิลอรุณ ศึกษาธิการจังหวัดน่าน คุณอรรณพ จูจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาน่าน คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านปฏิบัติการความยั่งยืนและกิจการเพื่อสังคม เครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการสำนักงานด้านความความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศ และให้โอวาทแก่น้องๆนักเรียนที่ผ่านเข้ารอบ รวมถึงเกณฑ์การประกวดสิ่งประดิษฐ์ เพื่อให้น้องๆนักเรียนรับทราบขั้นตอน และทิศทางของโครงการ YIN-D ในอนาคต

โดยเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ 3 ท่าน จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มาให้ความรู้กับน้องๆ ได้แก่ คุณลัดดา พลอยมีค่า Department , Strategy & Sustainable Development คุณสุชิน แสงละออ Department , Strategy & Sustainable Development และคุณมงคล ทวีกุลกิจ Department , Innovation Center ได้มาบรรยายหลักสูตร “แนวคิดนวัตกรรมและการจัดการขยะ” โดยใช้หลักแนวคิด SCAMPER นอกจากนี้ยังมีการให้แนวทางกับน้อง ๆ นักเรียนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้นอกจากกิจกรรมการจัดอบรมพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมจัดการขยะแล้ว ทางสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังมีอีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร Design Thinking และหลักสูตร YIN-D Model Canvas เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพน้องๆ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ให้มีประสิทธิภาพในการออกแบบ วิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในอนาคตต่อไป