ผู้บริหารเครือซีพี บรรยายหัวข้อ ”นวัตกรรมและการสนับสนุนให้ประเทศไทยเพิ่มอันดับความสามารถในการแข่งขัน” ให้แก่ ข้าราชการ ก.พ. ผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง รุ่นที่ 18

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คุณคริสมาส ศุภทนต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญไปบรรยาย หัวข้อ “นวัตกรรมและการสนับสนุนให้ประเทศไทยเพิ่มอันดับความสามารถในการแข่งขัน” ให้แก่ ข้าราชการ ก.พ.ผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง รุ่นที่ 18 (HIPPS รุ่น 18) ในหลักสูตรการเสริมสร้างคุณลักษณะส่วนบุคคลและทักษะการทำงานสำหรับข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ข้าราชการกพ. เรียนรู้กรณีศึกษา  (Case Study) บทบาทภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนให้ประเทศไทย มีความคิดริเริ่มเชิงนวัตกรรมที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในกระบวนการทำงานและผลสัมฤทธิ์ขององค์กร

ในการนี้คุณคริสมาส ได้บรรยายถึงบทวิเคราะห์จากประวัติศาสตร์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์  (ซีพี) ที่หยิบ Case จากหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ของประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งบอกเล่าเส้นทาง วิธีคิด การสร้างธุรกิจ สร้าง Supply Chain จนประสบความสำเร็จ  และการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของซีพี ซึ่งคุณคริสมาสและทีมงานได้รวบรวมข้อมูลมากว่า 8 ปี จนถอดรหัสออกมาเป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจและนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ เพื่อส่งต่อแนวความคิดสู่นักธุรกิจรุ่นใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจชาติที่เข้มแข็ง อีกทั้งเป็นกำลังใจให้กับนักธุรกิจทุกคนสู้ต่อไป

 

เนื้อหาในการบรรยายได้แบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก ดังนี้

  1. อันดับความสามารถในการแข่งขันโดยเน้นยกระดับนวัตกรรม
  • อิงข้อมูลจากการจัดอันดับ Global Innovation Index 2022 จาก 132 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ในระดับที่ 43 ซึ่งต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับ 7 จาก World Intellectual Property Organization

  • ชี้ให้เห็นถึงระบบนิเวศน์ในการสร้างนวัตกรรมของประเทศไทย
  • แชร์บทวิเคราะห์จากนักวิชาการ อาทิ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ดร.วิรไท สันติประภพ

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ชี้เป้าว่าประเทศไทยต้องเน้นนวัตกรรมในภาคเกษตร

 

  1. เนื้อหาความสำเร็จดีใจได้วันเดียว
  • นำเสนอประวัติศาสตร์ธุรกิจของซีพี
  • การสร้าง Supply Chain ของการเลี้ยงไก่ในยุค 40 ปีที่ผ่านมา
  • แชร์ Best Practice เรื่องความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จาก Pain Point ด้านสุขภาวะของไก่ ซึ่งซีพีเป็นบริษัทหนึ่งในภาคเอกชนที่เข้าไปมีบทบาท ช่วยพัฒนา บริษัท สามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ในการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับการบริโภคเนื้อไก่ สร้างโรงเชือดที่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในระดับอุตสาหกรรม เสาะหาเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากทั่วโลก

 

  1. นโยบายของภาครัฐสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อประชาชน
  • ประเทศไทยมี Pain Point จากกรณีศึกษาที่ภาครัฐมองเห็น โดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชนขาดแคลนโปรตีนจากการบริโภคเนื้อไก่ได้แค่ปีละไม่กี่ครั้ง เนื่องจากเนื้อไก่มีราคาแพงและยังไม่ได้มาตรฐานในด้านสุขอนามัยจากการเชือด ชำแหละ และถอนขน ที่ทำกันอยู่ข้างถนน ต้องใช้วิธีการใหม่ในการเริ่มต้นแก้จุด Pain Point โดยการหาเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงไก่ในประเทศไทย ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต สามารถควบคุมคุณภาพได้

 

Best Practice:  ได้ยกช่วงที่ซีพีกำลังปลุกปั้นธุรกิจไก่ ขณะนั้นเนื้อไก่ยังเป็นอาหารที่มีราคาสูง แต่คนในประเทศไทยส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ จึงได้นำแนวความคิดเรื่องระบบครบวงจร ที่ศึกษามาจากสหรัฐอเมริกา มาทดลองใช้เปลี่ยนการเลี้ยงไก่ใต้ถุนบ้านให้เป็นการเลี้ยงในโรงเรือน ใช้วิธีการใหม่ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เริ่มจากคัดพันธุ์ไก่ พัฒนาสูตรอาหารให้เหมาะสม เริ่มเลี้ยงพร้อมกัน ให้อาหารเป็นเวลาเดียวกัน มีกำหนดระยะเวลาการเลี้ยง จึงได้ขนาดตัวไก่ที่เท่าๆกัน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเชือด การแปรรูปที่ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย ทำให้สามารถควบคุมมาตรฐาน ถูกสุขอนามัยและปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงไก่เพื่ออุตสาหกรรมทำให้เนื้อไก่มีราคาถูกลง

  • ทฤษฎีกระบวนการนวัตกรรม ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า นวัตกรรมมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน จากการศึกษากระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมจำเป็นต้องนำทฤษฎีต่าง ๆ มาใช้ในแง่การจัดการนวัตกรรม โดยได้นำเสนอทฤษฎีของ Jay & Leonard ที่ประกอบด้วย 5 หัวข้อ ได้แก่

  • การแนะนําสินค้า และผลิตภัณฑ์ตัวใหม่
  • การแนะนําวิธีการใหม่ ด้านการผลิต
  • การเปิดตลาดแห่งใหม่
  • การเปิดแหล่งวัตถุดิบแหล่งใหม่
  • การปรับโครงสร้างองค์กรอุตสาหกรรม

 

*Jay Weerawardena – Associate Professor of Strategic Marketing, The University of Queensland Business School, Australia

*Leonard Coote – Associate Professor, The University of Queensland Business School, Australia

 

สรุปได้ว่า แนวคิดหลักในการทำธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังการทำทุกอย่างของเครือซีพีก็คือแนวคิด “ต้องครบวงจร” คือทำเองตั้งแต่ขั้นแรกไปจนถึงขั้นสุดท้ายของห่วงโซ่อุปทาน เท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งประธานอาวุโสธนินท์ นำ “ระบบครบวงจร” มาใช้กับธุรกิจไก่เป็นธุรกิจแรก ก่อนจะนำไปใช้กับธุรกิจอื่นๆ โดยผู้เข้าร่วมหลักสูตรให้ความสนใจในเรื่องนวัตกรรมการทำธุรกิจของซีพีเป็นอย่างมาก

การบรรยายในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากข้าราชการกพ. ที่มาเข้าฟังการบรรยายกว่า 120 คน มีการซักถาม-แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมากมาย นับเป็นการสร้างการรับรู้ ข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจในธุรกิจของซีพีว่าเราทำธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ มีธรรมาภิบาล ปัจจุบันซีพีดำเนินธุรกิจมา 102 ปี แล้ว และจะก้าวต่อไปโดยคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน