ตามไปดูอีก 1 โครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนของชาว PIM ช่วยพัฒนาอาหารสร้างศักยภาพ SME เมืองนนท์-ปทุมธานี

วันนี้ wearecp มีเรื่องราวน่าสนใจของโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนที่แตกต่างไปจากโครงการอื่นๆ นั่นคือโครงการช่วยพัฒนาสินค้าอาหารให้กับ SME ย่านเมืองนนท์และปทุมธานีของทีมงานสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เนื่่องจากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์และมีผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่ต้องการการพัฒนาธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเหล่านี้มีข้อจำกัดในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ให้เป็นที่จดจำและดึงดูดลูกค้าในการซื้อขาย ซึ่งมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสินค้า และโอกาสในการขายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขายในรูปแบบออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน

สาขาวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร คณะการจัดการธุรกิจอาหาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เล็งเห็นว่า ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการออกแบบบรจุภัณฑ์และตราสินค้าช่วยให้ผู้บริโภครู้จักตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น ในหลายลักษณะได้แก่ ชื่อตราสินค้าทำให้ผู้บริโภคสามารถระบุผลิตภัณฑ์ที่ต้องการซื้อได้ นอกจากนี้ตราสินค้ายังเป็นสิ่งที่บอกให้ผู้บริโภคทราบถึงคุณภาพ คุณประโยชน์ที่มีความแตกต่างจากคู่แข่งขัน จนทำให้ชื่อตราสินค้ากลายเป็นพื้นฐานในการสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับคุณภาพพิเศษของผลิตภัณฑ์ ตราสินค้าไม่ได้มีประโยชน์กับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของกิจการด้วยในหลายลักษณะ ได้แก่ ตราสินค้าและเครื่องหมายการค้าทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ป้องกันการลอกเลียนแบบของคู่แข่งขัน

นอกจากตราสินค้าแล้ว บรรจุภัณฑ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เนื่องจาก บรรจุภัณฑ์ช่วยในการสื่อสารด้านการตลาดเพื่อสร้างการจดจำให้กับลูกค้า อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สินค้าของเรามีความแตกต่าง หากมีการออกแบบอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสมสอดคล้องกับตัวผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงามแตกต่าง มีโอกาสสร้างยอดขายได้ให้มากขึ้นได้ บรรจุภัณฑ์ช่วยให้เกิดความประหยัดและป้องกันความสูญเสียที่เกิดจากการขนส่งอีกด้วย

เพื่อที่จะช่วยผู้ประกอบการพัฒนาธุรกิจอาหารขนาดเล็กให้มีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น ทางสาขาวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร จึงได้มีแนวคิดจัดทำโครงการบริการชุมชนโดยให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ให้เข้าไปสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารขนาดเล็กในชุมชนปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดปทุมธานี ที่มีข้อจำกัดในด้านการพัฒนาตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ หลังจากการพูดคุยและสัมภาษณ์กับผู้ประกอบการ นักศึกษาร่วมกับอาจารย์ได้ช่วยกันบูรณาการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ในส่วนที่ผู้ประกอบการต้องการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจประเภทอาหารให้กับผู้ประกอบการผ่านการพัฒนาตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ และสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าให้กับผู้ประกอบการธุรกิจประเภทอาหารขนาดเล็ก

ทีมงานนี้เล่าถึงการทำงานว่านักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร ได้จัดกิจกรรมหารายได้จากการขายสินค้าประเภทอาหารภายในสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อนำผลกำไรที่ได้รับไปดำเนินโครงการการพัฒนาสินค้าประเภทอาหารเพื่อสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก โดยนักศึกษาได้รับโจทย์ลงพื้นที่ชุมชนโดยเน้นพื้นที่รอบข้างสถาบันการจัดการปัญญภิวัฒน์ โดยได้เลือกเป็นผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มขนาดเล็กในเขตจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี ทีมงานนักศึกษาลงพื้นที่พูดคุยและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องในด้านการพัฒนาสินค้า ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ที่อยากให้นักศึกษานำความรู้มาบูรณาการเพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจให้มีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น จากนั้นให้นักศึกษาวางแผนการพัฒนาสินค้า โดยขอคำปรึกษาจากอาจารย์สาขาวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร จากนั้นนักศึกษาก็ได้ทำการออกแบบตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ โดยผ่านการให้คำแนะนำจากอาจารย์ และนำไปให้ผู้ประกอบตัดสินใจและปรับปรุงสินค้าตามความต้องการของผู้ประกอบ โดยคำนึงถึงการนำไปใช้ในอนาคตที่ไม่กระทบต่อต้นทุนของสินค้า จากนั้นจึงนำสินค้าที่ได้รับการพัฒนาแล้วไปทดลองขายจริงหน้าร้าน รวมทั้งติดตามประเมินผลจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มาซื้อสินค้า

จากการดำเนินโครงการปรากฏว่ามีธุรกิจอาหารขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการและได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ถึง15 ธุรกิจ เช่น ตราสินค้า ผลิตภัณฑ์เต็มอิ่ม มะพร้าวน้ำหอม ตราสินค้า ผลิตภัณฑ์ของขวัญ ขนมไทย ตราสินค้า ผลิตภัณฑ์ส้มตำสยาม ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์กล้วยตากสดจากสวน ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ กลุ่มร้านเจ้แมว ปอเปี๊ยะสด ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ กลุ่มร้านเต้าฮวยนมสด ตราสินค้าร้าน Wild Rabbit ตราสินค้า ผลิตภัณฑ์ป้าอี๊ดหมี่กรอบ ตราสินค้า ผลิตภัณฑ์ขนมไทยยายแส ตราสินค้า ผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรไอเดียอันดา ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรและอาหารแปรรูปพฤกษา ตราสินค้า ผลิตภัณฑ์วุ้นคุณศรี ตราสินค้า ผลิตภัณฑ์หมูฝอยเรือนคำหอม ตราสินค้า ผลิตภัณฑ์แม่วรรณ หมูสวรรค์ ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์แม่มาศ กะหรี่พัฟ

น่าดีใจที่มีการร่วมมือกันของทีมงานกับร้านค้า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ สามารถนำตราสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาไปใช้ในการขายได้จริง และ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์จากโครงการนี้ได้รับความสนใจและเป็นที่จดจำจากลูกค้ามากขึ้น และมีร้านค้าอื่นๆที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โรค COVID19 ทำให้โครงการใน Phase 2 ได้หยุดชะงักไป ซึ่งโดยมีผู้ประกอบการที่สนใจอีกมากกว่า 10 ร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ทางทีมงานจึงได้วางแผนว่า หลังจากสถานการณ์คลี่คลายลงจะดำเนินการโครงการต่อเนื่องไปอีกและจะขยายโครงการไปยังชุมชนอื่นนอกเขตจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี

Wearecp ขอปรบมือและเป็นกำลังใจให้ทีมงานสามารถขนะใจคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนเพื่อเข้ารอบต่อไป