เลื่อนประกาศปรับขึ้นค่าไฟ ไม่มีกำหนด จากเดิมประกาศ 1 สิงหาคม! ด้านกฟน. ขยับกลยุทธรับเทรนด์พลังงานสะอาด และ อีวี

ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center)ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ

เศรษฐกิจในประเทศ

เลื่อนประกาศปรับขึ้นค่าไฟ ไม่มีกำหนด จากเดิมประกาศ 1 สิงหาคม

  • คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เลื่อนการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที งวดใหม่ เดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม 2565 ออกไปไม่มีกำหนด จากเดิมกำหนดแถลงข่าววันที่ 1 สิงหาคมนี้
  • ก่อนหน้านี้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากอัตรา 4 บาทระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม (ข่าว: บางกอกโพสต์ และ ช่องเจ็ดสี)

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

กฟน. ขยับกลยุทธรับเทรนด์พลังงานสะอาด และ อีวี

  • การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ MEA เปิดเผยเป้าหมาย 3 ระยะ

1.ระยะสั้น ปี 2566 – 2568 Strengthen Smart Energy มุ่งรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน พัฒนาโครงข่ายรองรับ พลังงานสะอาดและอีวี

2.ระยะกลาง ปี 2569 – 2570 Smart Utility มุ่งเชื่อมต่อบริการกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดตั้ง Trader Unit และพัฒนา Virtual Utility เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้า

3.ระยะยาว ปี 2571 – 2580 Sustainable Energy Utility มุ่งให้บริการรูปแบบ Co-Creation Service เพื่อให้ลูกค้าสามารถดีไซน์รูปแบบบริการของตนเองได้

  • ด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ปีนี้ตั้งเป้าติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 100 หัวชาร์จ ในพื้นที่ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ และจะขยายปีละ 100 หัวชาร์จ อีก 5 ปี รวมเป็น 600 หัวชาร์จ
  • กฟน. จะเริ่มเก็บค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 7.50 บาทต่อหน่วยเดือนนี้ หลังจากที่ให้ใช้ฟรีมาก่อนหน้านี้ แต่จะได้รับเงินคืน CASH BACK ผ่าน MEA EV Wallet 50% ภายในเดือนนี้ (ข่าว: ประชาชาติธุรกิจ และ กรุงเทพธุรกิจ)

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ยอดค้าปลีกในเยอรมนีร่วงลงหนักสุดเมื่อเทียบปีต่อปีนับตั้งแต่ปี 1994

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีเปิดเผยยอดค้าปลีกในเดือนมิถุนายนลดลง 8.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.0% นับว่าเป็นการลดลงเมื่อเทียบรายปีหนักที่สุดในรอบ 30 ปี
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอดค้าปลีกอาหารลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น (ข่าว : รอยเตอร์ส)