IMF แนะ Fed ต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4-5% นานเกิน 1 ปี เป้าหมายเสถียรภาพทางราคา / บ้านหรูเสี่ยงโอเวอร์ซัพพลาย ดีเวลลอปเปอร์แห่ผุดบ้านราคาเกิน 10 ล้าน / ต้นทุนเครื่องดื่มชูกำลังพุ่ง! ฉุดมั่งคั่ง “คาราบาวกรุ๊ป” กำไรหดตัว 21%

ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ

เศรษฐกิจสหรัฐ

IMF แนะ Fed ต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4-5% นานเกิน 1 ปี เป้าหมายเสถียรภาพทางราคา

  • IMF ประเมินว่า หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุดที่ 4-5% และคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้นานกว่า 1 ปี จะช่วยให้ Fed บรรลุเป้าหมายเสถียรภาพทางราคา และการจ้างงานอย่างเต็มที่ได้
  • เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ความต้องการแรงงานลดลง และเพิ่มการว่างงานเล็กน้อย โดยสิ่งนี้จะลดแรงกดดันในการขึ้นค่าจ้างและราคาจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อลง
  • อย่างไรก็ตาม ความต้องการจ้างงานใหม่ยังมีมากกว่าอุปทานแรงงานที่มีอยู่ในสหรัฐฯ เห็นได้จากอัตราการว่างงานที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี และสิ่งนี้ก็มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น (thestandard)

อสังหาริมทรัพย์

บ้านหรูเสี่ยงโอเวอร์ซัพพลาย ดีเวลลอปเปอร์แห่ผุดบ้านราคาเกิน 10 ล้าน

  • ตั้งแต่ต้นปี ทิศทางการเคลื่อนไหวของดีเวลลอปเปอร์ อสังหาฯ รายใหญ่ในการเปิดตัวโครงการใหม่ 10-300 ล้านบาท ทำลายสถิติเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและโอกาสผลักดันยอดขาย
  • สวนทางกับศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ที่คาดการณ์ตลาดอสังหาฯปี 2566 ยังคงติดลบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น มาตรการแอลทีวีที่ส่งผลในการซื้อลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายและยอดโอนติดลบ
  • จากข้อมูลบ้านราคากว่า 10 ล้านบาท การโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2565 มีจำนวนหน่วย 2.5% ของตลาดรวม 100,269 หน่วย ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยแต่ในเชิงมูลค่าคิดเป็น 18.7% จากตลาดมูลค่า 529,121 ล้านบาท
  • ตลาดบ้านราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป เป็นตลาดที่มีขนาดเล็ก จับกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงซึ่งมีจำนวนจำกัด ดังนั้นการที่ดีเวลลอปเปอร์พยายามเปิดตัวพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายขึ้นได้ (กรุงเทพธุรกิจ)

สินค้าอุปโภคบริโภค

ต้นทุนเครื่องดื่มชูกำลังพุ่ง! ฉุดมั่งคั่ง “คาราบาวกรุ๊ป” กำไรหดตัว 21%

  • “คาราบาวกรุ๊ป” มีรายได้จากการขายปี 2565 เติบโต 11% มีมูลค่า 19,215 ล้านบาท แต่ “กำไรสุทธิ” ลดลงถึง 21% อยู่ที่ 2,286 ล้านบาท จากปีก่อน
  • สาเหตุหลักเกิดการปรับตัวขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ เช่นน้ำตาล และหีบห่อหลักอย่าง บรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียม ตลอดจนต้นทุนพลังงานที่ใช้ในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น
  • ส่วนการส่งออกไปต่างประเทศมีมูลค่า 6,829 ล้านบาท ลดลง 1% แต่มีกลุ่มประเทศที่ยังสร้างการเติบโตได้ เช่น กลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามหรือ CLMV โดยเวียดนาม มีออเดอร์เพิ่มทำให้ส่งออกโต 60%
  • อังกฤษเป็นอีกฐานทัพธุรกิจสำคัญของคาราบาวกรุ๊ป บริษัทสร้างรายได้จากการขายเติบโต 48% สินค้าพระเอกคือกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังอัดก๊าซ ตอบสนองตลาดอังกฤษและภาคพื้นยุโรป (กรุงเทพธุรกิจ)