CPF โรงงานอาหารแปรรูป ลงนาม MOU ม.เกษตรฯ และพันธมิตร ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน

CPF โรงงานอาหารแปรรูปหนองจอก ลงนาม MOU ทางวิชาการ “มาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร” เพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ระหว่าง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ และบริษัทเอกชนรวม 32 บริษัท จาก 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เกษตรและอาหาร วัสดุก่อสร้าง พลาสติก บรรจุภัณฑ์ แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และพลังงานสะอาด โดยได้รับเกียรติจาก ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ร่วมลงนาม โดย CPF โรงงานอาหารแปรรูป ซึ่งมี คุณเกริกพันธุ์ ดีประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ CPF เป็นตัวแทนลงนาม ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
คุณเกริกพันธุ์ กล่าวว่า โรงงานอาหารสำเร็จรูปหนองจอก ได้รับคัดเลือกให้เป็นบริษัทนำร่องเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบการรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร ร่วมผลักดันนโยบายฯ สู่การปฏิบัติจริง เป็นโรงงานนำร่องของ CPF ที่มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ยกตัวอย่าง โครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ทำในโรงงาน อาทิ การใช้พลังงานทดแทน Solar Rooftop การนำตะกอนระบบบำบัดน้ำเสียมาเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้า ลดของเสียที่นำไปกำจัดสู่ภายนอก และการขยายผลโครงการการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้ง Solar Rooftop และ Solar Floating จากธุรกิจในกลุ่มธุรกิจ (อสร.โคราช) ซึ่งการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว นอกจากโรงงานจะได้รับความรู้เรื่องระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากร ให้ทราบถึงกฎเกณฑ์ ข้อกำหนดต่างๆ การนำแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ลดปริมาณขยะให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ. 2573 ตามเป้าหมายความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action และเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ด้าน รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบาย BCG Model โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งภาคเอกชนยินดีขานรับนโยบาย แต่ยังมีคำถามว่าจะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติอย่างไร สมอ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของ ก.อุตสาหกรรม เห็นว่ามาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำการตลาดกับคู่ค้าธุรกิจ หรือประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าซึ่งทั่วโลกมีนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้น การที่ไทยมีการผลิตสินค้าส่งออก จึงต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการแสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมาตรฐานการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร เพื่อที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งระดับภูมิภาคและระดับสากล
สำหรับโครงการ “การพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน มี ผอ.วีกรีน เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. มีระยะเวลาดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนำร่อง ตั้งแต่ ก.ค. 65 – ธ.ค. 66 โดยมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้องค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ
การจัดทำระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กรนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สถานประกอบการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยรับรองที่มีความสามารถสอดคล้องตามหลักสากล มีช่องทางเพิ่มขึ้นในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ให้ความสำคัญกับการจัดการอย่างยั่งยืน และยังสนับสนุนให้ไทยบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดล BCG ปี 2564-2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน
Cr.PR CPF