CPF เดินหน้าเฟส 2 อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนพื้นที่สมุทรสาคร เพิ่มอีก 266 ไร่

คุณปรีชา มีนิล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ป่าชายเลน จ.สมุทรสาคร พร้อมด้วย คุณวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สมุทรสาคร, คุณชัชนรินทน์ ชัชวงศ์วาลย์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, คุณประทีป ลิสกุลรักษ์ ผอ.ศูนย์ป่าไม้สมุทรสาคร และคุณศิวณัฐ สี่เหรียญน้อย ผู้ช่วยหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร ลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน ระยะที่หนึ่ง (ปี 2557-2561) พื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร รวม 104 ไร่ และปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2562-2566) โดย CPF มีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ จ.สมุทรสาครเพิ่มอีก 266 ไร่
ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า พื้นที่ป่าชายเลน จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่อ่าวตัว ก. มีปัญหาพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะ แต่จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนที่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมดูแลป่า นำมาสู่ผลสำเร็จของการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าชายเลน สามารถเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูป่าชายเลนให้พื้นที่อื่นๆ ซึ่งในโอกาสวันป่าชุมชนชายเลนไทย 12 เมษายน ของทุกปี จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคน ร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
ด้าน รองกรรมการผู้จัดการ CPF ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ป่าชายเลน จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ปี 2562-2566 เข้าสู่ระยะที่สองของโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ซึ่ง CPF ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เดินหน้าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพิ่มอีก 266 ไร่ หลังจากผลสำเร็จของโครงการระยะที่หนึ่ง (ปี 2557-2561) รวม 104 ไร่ และจัดตั้งสถานีส่งเสริมอาชีพชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน สร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริม และสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคงให้แก่ชุมชนชาวบางหญ้าแพรก
CPF ดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน มาตั้งแต่ปี 2557 ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน พื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา รวมพื้นที่ 2,388 ไร่ ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ คืนสมดุลระบบนิเวศ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังต่อยอดส่งเสริมชุมชนผลิตอาหารปลอดภัย อาทิ ปลูกผักเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน เป็นการสร้างแหล่งอาหารที่มั่นระดับชุมชน เพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน
Cr.PR CPF