Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก ปีที่ 2 “CPF จับมือ SOS – บ.เก็บสะอาด” บริหารอาหารส่วนเกินสู่การบริโภคที่ยั่งยืนกว่า 7 หมื่นมื้อ

CPF จับมือ มูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS ประเทศไทย) และ เก็บ สะอาด (GEPP) เปลี่ยนอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) เป็นเมนูอร่อย สะอาด ปลอดภัย 74,906 มื้อ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กว่า 85 ชุมชน ใน กทม. และปริมณฑล สานต่อ โครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” ปีที่ 2 ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมเก็บกลับบรรจุภัณฑ์สู่การจัดการแบบ Closed loop ซึ่งเป็นต้นแบบการจัดการอาหารส่วนเกินและรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์โดยเก็บกลับแบบครบวงจรครั้งแรกของไทย
คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร CPF กล่าวว่า ซีพีเอฟ SOS และ GEPP ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 การขาดรายได้ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งช่วยลดค่าครองชีพ อีกทั้งยังสนับสนุนกิจกรรมอาสาฝ่าโควิดในพื้นที่ชุมชนเมือง และศูนย์ฉีดวัคซีนในชุมชนแออัด ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้ต้องการมื้ออาหารที่ดีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งมอบอาหารไปแล้ว 74,906 มื้อ ให้กับ 85 ชุมชน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับอาหารที่ CPF ส่งมอบมีโภชนาการที่ดีต่อร่างกาย สารอาหารครบถ้วน และโปรตีนมากถึง 92.5% ของปริมาณทั้งหมด มุ่งให้แหล่งพลังงานสำคัญเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของกลุ่มผู้เปราะบาง ซึ่งเป็นไปตามการขับเคลื่อนเป้าหมาย Zero Food Waste นำอาหารส่วนเกินสู่การบริโภค ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการฝังกลบขยะอาหารได้ถึง 39,996 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
“โครงการ Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก เป็นต้นแบบการจัดการอาหารส่วนเกินและการจัดการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรครั้งแรกของไทย โดยลดปริมาณขยะอาหารด้วยการตัดวงจรอาหารส่วนเกินสู่หลุมฝังกลบ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงการบริโภค และการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ (Takeback System)” คุณวุฒิชัย กล่าว
ความร่วมมือดังกล่าว เป็นความมุ่งมั่นร่วมกันของ CPF และพันธมิตรโดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมี CPF และ SOS วางกลยุทธ์และพื้นที่เป้าหมายร่วมกัน เพื่อส่งมอบวัตถุดิบที่เป็นอาหารส่วนเกินมาปรุงอาหารจากศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท มูลนิธิ SOS ทำหน้าที่นำอาหารส่วนเกินจาก CPF มาจัดการและปรุงใหม่เป็นอาหารพร้อมทานส่งมอบถึงมือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน กลุ่มเปราะบาง ซึ่งส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์พลาสติกหลังบริโภค ได้รับความร่วมมือจาก เก็บสะอาด เก็บบรรจุภัณฑ์ (Take back system) เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจัดการรีไซเคิล ช่วยจัดการปัญหาขยะในชุมชน โดยตั้งแต่ปี 2564 เก็บกลับบรรจุภัณฑ์กว่า 6,000 ชิ้น ส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ นำเข้าสู่กระบวนการจัดการที่เหมาะสมเพื่อลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบอีกด้วย
โครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ความมุ่งมั่นด้าน Waste to Value ที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ภายใต้กลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในช่วง 10 ปีข้างหน้าของ CPF (พ.ศ. 2564-2573) และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ต้องการลดจำนวนขยะอาหารทั่วโลกกว่าครึ่ง ภายใน พ.ศ. 2573 สอดคล้องกับการบริหารจัดการการผลิตอย่างยั่งยืนและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ
Cr.PR CPF