CPF เดินหน้า “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” หนุนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

CPF ต่อยอดความสำเร็จ 20 ปี “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” จากฟาร์มสุกร สู่ธุรกิจไก่ไข่ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำยั่งยืน ส่งต่อน้ำปุ๋ยจากระบบไบโอแก๊สในฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ บำรุงต้นพืชแก่เกษตรกรรอบข้าง ปี 2565 ปันน้ำปุ๋ย 111,000 ลูกบาศก์เมตร บนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 115 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำให้กับชุมชน
คุณสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจไก่ไข่ CPF เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่ CPF ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกธุรกิจของบริษัทต่างมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดห่วงโซ่การผลิต ลดของเสียในกระบวนการผลิต รวมถึงการเปลี่ยนของเสียให้กลับมาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเฉพาะความสำเร็จจากธุรกิจสุกรที่ดำเนินโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรรอบข้าง มานานกว่า 20 ปี ต่อยอดสู่ธุรกิจไก่ไข่ ด้วย “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” โดยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่ หรือไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงสถานประกอบการนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการเพาะปลูก ในปี 2565 ฟาร์มสันกำแพง จ.เชียงใหม่ และฟาร์มหนองข้อง ฟาร์มจะนะ จ.สงขลา ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ปันน้ำปุ๋ยกว่า 111,000 ลูกบาศก์เมตร ให้เกษตรกรใช้ปลูกหญ้าเนเปีย ข้าวโพด ฟักทอง และสวนปาล์ม รวมพื้นที่กว่า 115 ไร่ ช่วยให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี และในปีนี้ ต่อยอดสู่ฟาร์มจักราช และฟาร์มอุดรธานี ขยายพื้นที่ปันน้ำปุ๋ยอีก 60 ไร่ ให้เกษตรกรปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง
“CPF มุ่งเน้นการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพตลอดกระบวนการผลิต ขณะเดียวกัน ยังใช้ระบบไบโอแก๊สบำบัดของเสียเปลี่ยนมูลไก่เป็นไบโอแก๊ส เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มไก่ไข่ โดยในกระบวนการจะได้กากตะกอน รวมถึงน้ำหลังการบำบัดซึ่งปกติไม่ปล่อยออกสู่ภายนอก (Zero Discharge) จะใช้หมุนเวียนผสมกับมูลไก่ในระบบไบโอแก๊สอีกครั้ง จึงไม่ต้องใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ และนำน้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมรดน้ำต้นไม้ในฟาร์ม ที่ผ่านมา มีเกษตรกรทำหนังสือขอรับน้ำเพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูก ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำให้กับชุมชน ส่วนกากตะกอนใช้ปรับสภาพดินก่อนปลูกพืช ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น และช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี” คุณสมคิด กล่าว
ด้าน คุณจักกฤษนณ์ โสพิกุล เกษตรกร ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มหนองข้อง รดต้นปาล์มบนพื้นที่ 3 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2565 กล่าวว่า โครงการนี้ดีมาก น้ำปุ๋ยเป็นปุ๋ยชีวภาพอย่างดี สามารถปล่อยลงในร่องสวนปาล์มได้ทันที หลังจากทดลองพบว่าช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน เพราะน้ำปุ๋ยมีแร่ธาตุทำให้ผลผลิตดีขึ้น ทะลายเพิ่ม ไม่ขาดคอ ลูกดก ลูกออกสม่ำเสมอ ได้น้ำหนักเพิ่ม ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้มากกว่า 50% พร้อมเสริมปุ๋ยบางตัวเพื่อให้ได้ธาตุอาหารครบ ขอบคุณ CPF ที่จัดโครงการดีๆ เช่นนี้
ส่วน คุณหล๊ะ ดุไหน เกษตรกร ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา เกษตรกรต้นแบบรับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มจะนะ กล่าวว่า น้ำปุ๋ยช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ 40-50% โดยใช้ในแปลงปลูกหญ้าเนเปีย 10 กว่าไร่ เพื่อให้วัวเนื้อที่เลี้ยงไว้ จึงไม่ต้องจัดหาหญ้าจากแหล่งอื่น ช่วยลดค่าอาหารได้ และยังใช้ในสวนปาล์มอีก 10 ไร่ ทำให้ต้นปาล์มฟื้นตัวดี ให้ผลผลิตดี ส่วนฟักทองที่ปลูก 10 ไร่ ปกติใช้น้ำในบึง หลังจากใช้น้ำปุ๋ยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มาก สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี จึงจะขยายพื้นที่อีก 10 ไร่
CPF บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำหลักการ 3Rs ตลอดห่วงโซ่การผลิต ลดปริมาณการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ (Reduce) นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ตามเป้าหมายความยั่งยืน “CPF 2030 Sustainability in Action” สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)
Cr.PR CPF