‘มากอส จูเนียร์’ จีบ CPF ขยายลงทุน ‘สัตว์น้ำ-สุกร’ ในฟิลิปปินส์

‘มากอส จูเนียร์’ ผู้นำฟิลิปปินส์ ใช้โอกาสช่วงประชุมเอเปค ดึง CPF ลงทุนธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการผลิตสุกรในฟิลิปปินส์ ด้าน ผอ.สคต. เผย ฟิลิปปินส์ เร่งดึงนักลงทุนต่างชาติ ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดแนะนักลงทุนไทยศึกษาข้อระเบียบ กฎหมายให้ดี
คุณจันทนา โชติมุณี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า หนังสือพิมพ์ Business World ได้รายงานระบุว่า ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมระหว่างประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ กับกลุ่มผู้บริหาร Charoen Pokphand Foods Public Co. Ltd. (CPF) ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 29 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย กลุ่มเครือซีพี ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการผลิตสุกรในฟิลิปปินส์ ยังแสดงความสนใจในโครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของฟิลิปปินส์เพื่อเชื่อมโยงการผลิตอาหารกับผู้บริโภคชาว ฟิลิปปินส์ให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เครือซีพี ถือเป็นนักลงทุนเอกขนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและสำคัญที่สุดในภาค การเกษตรของฟิลิปปินส์ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ภายใต้การลงทุนบริษัทในเครือชื่อ Charoen Pokphand Foods Philippines Corporation (CPFPC) ซึ่งเริ่มดำเนินการในประเทศฟิลิปปินส์ใน ปี 2553 จากการเช่าโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในเมือง Guiguinto จังหวัด Bulacan สำหรับธุรกิจเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำนอกจากโรงเพาะฟักลูกกุ้งและปลาแล้ว บริษัท CPFPC ยังสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำที่ทันสมัย ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย โดยผลิตอาหารสำหรับปลานิล ปลาดุก ปลานวลจันทร์ทะเล และกุ้ง ต่อมาบริษัท CPFPC ยังได้ลงทุนเพิ่มเติมในปี 2555
ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ยังได้ให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศ เนื่องจากเห็นว่า มีความสำคัญต่อการบรรลุความมั่นคงทางอาหารของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังได้กล่าวถึง การผลักดันให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships: PPPs) มากขึ้น ในการพบปะกับกลุ่มผู้บริหารภาคธุรกิจของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญและจำเป็นต้องส่งเสริม ด้วยเหตุผลง่ายๆ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการเองได้ และเพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ในเศรษฐกิจใหม่ ทั้งนี้ ณ เดือน ส.ค. 2565 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้รวบรวมโครงการ PPPs จำนวน 74 โครงการ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 2.25 ล้านล้านเปโซ
นางสาวจันทนา กล่าวว่า บริษัท Charoen Pokphand Foods Philippines Corporation (CPFPC) เป็นบริษัทในเครือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทนักลงทุนไทยที่เข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์ และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยปัจจุบัน CPFPC ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั้งสุกร และไก่เนื้อและสัตว์น้ำ ทั้งกุ้งและปลา ของฟิลิปปินส์ที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประเทศฟิลิปปินส์ เป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ รวมทั้งช่วยสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น โดยปัจจุบัน CPFPC มีการจ้างพนักงานชาวฟิลิปปินส์กว่า 3,000 คน
อีกทั้งได้ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์น้ำ ของฟิลิปปินส์โดยการนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสมัยใหม่และพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพดีขึ้นเพื่อช่วยขยาย ผลผลิตเพื่อรองรับความต้องการ นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนของ CPFPC ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ ประเทศไทย ตลอดจนสินค้าไทยอื่นๆ รวมถึงได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย และฟิลิปปินส์อีกด้วย
ปัจจุบันบรรยากาศการลงทุนในฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับนโยบายด้านการค้า การลงทุนของรัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ที่พยายาม ผลักดันและส่งเสริมให้มีบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 และช่วยให้เกิดการจ้างงานแก่ชาวฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น
สำหรับนักลงทุนไทยรายอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาลงทุน ในฟิลิปปินส์ ควรศึกษาสภาพตลาด กฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายจัดตั้งธุรกิจ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษี และอื่นๆ ประกอบการตัดสินเข้ามาลงทุน ทุกครั้ง เนื่องจากการเข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์ยังคงมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนพอสมควร
Cr. กรุงเทพธุรกิจ