21 ต.ค. วันรักต้นไม้ประจำปี “CPF” เดินหน้าร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ 2 หมื่นไร่

ในโอกาส 21 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ CPF ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ สนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาล ปลูกจิตสำนึกพนักงานเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และมีส่วนร่วมเพิ่มพื้้นที่สีเขียวให้ประเทศอย่างยั่งยืน
CPF ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายใต้แผนกลยุทธ์ใหม่ CPF 2030 Sustainability in Action มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าเป็น 20,000 ไร่ ด้วยการสานต่อโครงการปลูกป่าบกและป่าชายเลน ได้แก่ โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม พื้นที่ป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ที่ดำเนินการไปแล้ว 6,971 ไร่ โครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ ดำเนินการไปแล้ว 2,388 ไร่ และโครงการ “ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ” มีเป้าหมายปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั่วประเทศ รวม 5,000 ไร่
คุณไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ CPF ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมมือกับชุมชนและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน” มาตั้งแต่ปี 2557-2561 สามารถช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน รวม 2,388 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกใหม่ 325 ไร่ ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกิดผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ในด้านสังคม ป่าชายเลนสามารถป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่ง เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามธรรมชาติ และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้านสังคม CPF ต่อยอดจากกิจกรรมปลูกป่าสู่การส่งเสริมอาชีพของชุมชนและมีรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ถ่านไบโอชาร์ที่มีคุณสมบัติในการดูดกลิ่นได้ดี เกลือสปา สบู่หอม เป็นต้น ด้านเศรษฐกิจ ชุมชนมีอาชีพเสริมและมีรายได้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน มีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่มากขึ้น
คุณภาณุวัตร เนียมเปรม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส CPF ในฐานะประธานคณะทำงาน โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” กล่าวว่า ความร่วมมือ 3 ประสาน โดย CPF ชุมชน และกรมป่าไม้ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม ในโครงการฯ ที่ จ.ลพบุรี 6,971 ไร่ ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามเป้าหมายของประเทศเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าให้ได้ 40% ของพื้นที่ทั้งหมด ช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งจากการดำเนินโครงการระยะที่หนึ่ง (ปี 2559-2563) ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เพิ่มขึ้น โดย CPF ชุมชน และกรมป่าไม้ ได้ติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ทำแนวกันไฟ กำจัดวัชพืชเพื่อให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างแข็งแรง ซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ ฯลฯ รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชนด้วยการส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่ ทำโครงการปลูกผักวิถีธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนร่วมเป็นสมาชิก 8 หมู่บ้าน และโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน มีชุมชนเป็นสมาชิก 11 หมู่บ้าน
“ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้หยุดปลูกต้นไม้ในพื้นที่แต่ปรับรูปแบบของกิจกรรม โดยชาว CPF จิตอาสา ลงพื้นที่ปลูกป่า ติดตามดูแลต้นไม้ จ้างงานชุมชนดูแลและปลูกต้นไม้เพิ่มเติม กำจัดวัชพืช ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ช่วยเหลือชุมชนในช่วงโควิด” ประธานคณะทำงานโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง กล่าว
นอกจากโครงการปลูกป่าบกและป่าชายเลนแล้ว CPF ส่งเสริมให้ฟาร์มและโรงงานของบริษัททั่วประเทศ ปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 1,720 ไร่ มีเป้าหมาย 5,000 ไร่ รวมทั้งเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว รวมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการปลูกต้นไม้และปลูกป่ากว่า 5 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
Cr.PR CPF