“CEO ประสิทธิ์” ชี้ ปี 2023 เป็นโอกาสของไทยด้านเกษตรและอาหาร

CEO ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ร่วมสัมมนา “Thailand Next Move 2023 : The Nation Recharge” เติมพลังให้ประเทศไทย ก้าวสู่บริบทใหม่ จัดโดย วารสารการเงินธนาคาร ในโอกาสก้าวขึ้นสู่ทศวรรษที่ 5 ในรูปแบบ Virtual Seminar สะท้อนมุมมองการเกษตรยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หรือ Pioneer the Next Generation of Foodtech & Agritech 2023
CEO ประสิทธิ์ กล่าวถึง แนวโน้มและบริบทใหม่ด้านการเกษตรและอาหารว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ คือ ต้องเป็น Fully Integrated System กระบวนการผลิต (Process) ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เริ่มจากพืช เช่น เราใช้ข้าวโพด ข้าวโพดมาสู่ Feed Mill จาก Feed Mill ไปเชื่อมธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ สู่โรงชำแหละ โรงแปรรูป ไปสู่อาหาร การขาย ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ต้องเชื่อมโยงโดยเฉพาะช่วงเวลากับปริมาณ ถ้าไม่สอดคล้องกัน การที่จะทำให้เกิด Ecosystem ที่ดี เกิดความยั่งยืนของอาหารก็จะยากลำบาก หรืออาจจะทำให้ส่วนหนึ่งของ Value Chain ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จะทำให้สมบูรณ์จริงๆ ต้องเป็น Fully Integration System ให้ได้ตลอดห่วงโซ่ ซึ่ง CPF ทำเรื่อง Fully Integration มานานแล้วและทำได้ดี แต่สิ่งที่พยายามทำเพิ่มเติม คือ การทำให้ซัพพลายเชนของเราเข้มแข็งและเติบโตไปพร้อมๆ กัน
CPF นำเทคโนโลยีมาใช้ในห่วงโซ่คุณค่าและในห่วงโซ่อุปทาน เปรียบเสมือนการบริหารธุรกิจของเราว่ามีความต้องการในเรื่องอะไรบ้าง เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านการเงิน ระบบการจ่ายเงิน สนับสนุนให้ซัพพลายเชนของเรา มีระบบเงินทุนหมุนเวียนเงินที่ดีขึ้น ซึ่ง CPF ดำเนินโครงการร่วมกับ ธ.กรุงเทพ ช่วยซัพพลายเออร์ ภายใต้โครงการ “CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า” สนับสนุนให้คู่ค้าของ CPF มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ นำวงเงินไปกู้กับธนาคารได้ 90% ของวงเงินที่เราซื้อ ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของเรา ในปีหน้าจะเริ่มโครงการ Engineering Consulting ให้กับซัพพลายเออร์เพื่อไปดูว่าจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากนั้นเราก็จะแชร์เทคโนโลยีของเราไปให้ซัพพลายเออร์ด้วย เพื่อความสมบูรณ์ของ Value Chain ทั้งหมด
จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งการขาดแคลนอาหาร การระบาดของโควิด-19 เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับ CPF ปัญหาวัตถุดิบที่เกิดจากความไม่สงบระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นวิกฤต เราต้องการของบางอย่างมา ถ้าไม่มีเราก็ต้องหาตัวอื่นทดแทนให้ได้ ต้นทุนอาจจะขึ้น เราก็ต้องเร่งเรื่องไอที ซอฟท์แวร์ เรื่องการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ได้ ขณะเดียวกัน ในอีกมุมหนึ่งที่เกิดเหตุก็ทำให้เราเข้าไปสนับสนุนลูกค้าเราในหลายประเทศได้ดียิ่งขึ้น การส่งออกไปในประเทศยุโรปถือว่าดีขึ้น เพราะยุโรปเองอาจจะมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบ แรงงาน และราคาพลังงาน เพราะฉะนั้นต้นทุนก็อาจจะค่อนข้างสูง ถือเป็นโอกาสอันหนึ่งที่เราจะช่วยส่งอาหารไปสนับสนุนลูกค้าเราในต่างประเทศ
สำหรับเรื่อง Foodtech & Agritech คุณประสิทธิ์ กล่าวว่า Food Tech เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ซอฟท์แวร์ เรามีทีมวิศวกร ไอที ถ้าเป็นเรื่อง Biotech ต่างๆ เป็นทีม R&D ซึ่งมี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็น R&D ที่เกี่ยวกับสายพันธุ์สัตว์ของสิ่งมีชีวิต กับ R&D ที่เกี่ยวกับ Food เราก็จะมีทีมต่างๆ หลากหลาย เพื่อร่วมกันพัฒนาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเรา ทีมงานทั้งหมดมีจำนวนหนึ่งเป็นคนของ CPF ที่เราส่งเสริมพนักงานให้ไปศึกษาต่อปริญญาโท ปริญญาเอกเฉพาะทางเฉพาะด้าน อย่างทีมที่ดูแล Genetics เราส่งไปเรียนปริญญาเอกด้านนี้โดยเฉพาะ พอเค้าไปอยู่ในเวทีมหาวิทยาลัยระดับโลกก็จะมีคอนเน็กชั่นของโปรเฟสเซอร์ระดับโลกเข้ามาร่วมงานกับเรา เพราะฉะนั้นเรื่องไบโอเทค และ Genetics เป็นเรื่องที่เราทำมาไกลมาก
ด้านพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค CPF มองถึงความท้าทายความต้องการต่างๆ ของลูกค้า เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เราพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ คือ ให้สายพันธุ์ของหมูที่มีไขมันแทรกอยู่ เก็บไขมันพวกโอเมก้า 3 ใส่สูตรที่มี Flex Seed เข้าไปในอาหารสัตว์ ทำให้มีโอเมก้า 3 อยู่ในอาหาร และทำให้โอเมก้า 3 ที่หมูกินไปเก็บอยู่ในไขมันหมู เมื่อลูกค้าทานหมูและมีไขมันจึงไม่ต้องกังวล เช่นเดียวกับความต้องการของผู้บริโภคในเวทีโลก เราดูว่าอะไรที่เป็นจุดอ่อนหรืออะไรที่เป็นการเพิ่มมูลค่าที่เราอยากจะให้กับลูกค้า ตอนนี้ก็มีเทรนด์ Future Food Plant Based ที่เราใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาเนื้อจากพืชภายใต้แบรนด์ Meat Zero ซึ่งพัฒนาได้ดีมาก
CEO ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปี 2023 เป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทย หากมีการบริหารจัดการความเสี่ยงและหาโซลูชั่นต่างๆ ไว้ล่วงหน้า เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตอาหารและมีความสมบูรณ์ในตัวเอง อาทิ วัตถุดิบค่อนข้างเยอะ ไม่ได้ขาดแคลนมากนัก อาจจะขาดแคลนแค่บางส่วน แต่เราก็บริหารจัดการได้ดีกว่าประเทศอื่น พร้อมทั้งมีข้อแนะนำให้กับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจว่า เราอยู่ในไทยด้วยกัน ต้องพยายามร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน ผลิตสินค้าและบริการต่างๆออกไปในเวทีโลก เพราะไทยเป็นประเทศเปิด โดยเฉพาะการส่งออก ต้องช่วยกันทำให้สินค้าและบริการกับลูกค้า คอมมิทเมนท์ต่างๆ ที่เรามีกับลูกค้าทั่วโลกต้องรักษาไว้เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนนิ่ง ไม่ใช่แค่ของบริษัทอย่างเดียว เพราะถ้าเราทำได้ดีเป็นแบรนนิ่งของไทย ทำให้ลูกค้าทั่วโลกมีความมั่นใจของความเป็นไทยแลนด์ ประเทศที่สามารถผลิตอาหาร ให้บริการและส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคง
ส่วนปัจจัยท้าทาย คิดว่าเรื่องภาวะเศรษฐกิจข้างนอก เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เราก็ต้องดูว่าธุรกิจอะไรที่เราควบคุมได้ อะไรที่เป็นความเสี่ยงที่ต้องจัดการ สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ทำอย่างไรให้ต้นทุนของเราและต้นทุนของซัพพลายเออร์ใน Value Chain รวมพลังกันเป็นทีมเดียว ดูแลให้ซัพพลายเชน เติบโตไปพร้อมกับเราอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทีมของเราส่วนหนึ่งไปช่วยด้านการเงิน ด้านเอนจิเนียริ่ง ซอฟท์แวร์ เพื่อให้ซัพพลายเชนของเรามีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนเรามีประสิทธิภาพ เป็นต้นทุนที่แข่งขันได้ และไม่ใช่เราแข่งคนเดียว ต้องดึงทุกคนให้ไปเติบโตเพื่อไปแข่งในเวทีโลกร่วมกัน
Cr.PR CPF