2 จิตอาสา CPF สานงาน “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” สร้างความรู้ ต่อยอด

ปัญหาทุพโภชนาการในเด็ก ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานติดตามและให้ความสำคัญ เพราะไม่เพียงส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชนด้านร่างกายหรือสติปัญญาเท่านั้น ยังสะท้อนถึงความแตกต่างด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

CPF ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตระหนักถึงความสำคัญของภาวะโภชนาการในเด็กและเยาวชน ในปี 2558 CPF ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ริเริ่มโครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” มุ่งมั่นสร้างโภชนาการที่ดีในเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาพื้นที่รอบโรงงานและฟาร์มของบริษัทมากกว่า 60 แห่ง ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในโรงเรียนและชุมชน

โครงการดีๆแบบนี้ยังได้เพื่อนพนักงานที่มีจิตอาสามาช่วยเป็นกำลังสำคัญ เช่น “ยุ่ง-อรวรรณโชติชื่น” และ”หนู-กัญญาณัฐ กันเดช”

“ยุ่ง-คุณอรวรรณโชติชื่น” จิตอาสา CPF ดูแลโครงการฯ ให้กับ โรงเรียนบ้านลาดบัวขาว จ.นครราชสีมา เล่าว่า โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2558 ที่เลือกโรงเรียนนี้ เพราะตั้งอยู่ใกล้สถานประกอบการของ CPF ท่าน ผอ. จึงอยากให้เราเข้าไปช่วยพัฒนาและดูแลเรื่องอาหารของนักเรียน ทีมงานจึงเข้าไปสำรวจพื้นที่โดยรอบ พบว่า มีพื้นที่เหมาะสำหรับเลี้ยงไก่ไข่และปลูกผัก”

ปีแรกบริษัทฯ เข้าไปปรับปรุงพื้นที่ อาคารต่างๆ และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ ต่อมาเริ่มฟื้นฟูแปลงผักเดิม และได้รับการสนับสนุนไก่ไข่จาก “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ของมูลเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในปีถัดมา ผลผลิตจากแผนการเรียนรู้ทำให้โรงเรียนมีอาหารเพียงพอสำหรับนักเรียน และยังลดภาระค่าใช้จ่ายวัตถุดิบลงได้ ซึ่งในปี 2560 พบว่า ภาวะทุพโภชนาการของเด็กดีขึ้นกว่าปีก่อน เด็กผอมน้อยลง จากการกินไข่ไก่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ฟอง/คน ในปี 2561 ผลผลิตที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการส่งเสริมด้านอาชีพ เพิ่มหลักสูตรการเรียนรู้ เช่น เพาะเห็ด เลี้ยงปลาในบ่อ จนนำไปสู่การแปรรูปสินค้า เช่น น้ำพริกเห็ด แหนมเห็ด ล่าสุดโรงเรียนได้ขยายแหล่งเรียนรู้ออกไปในช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยนำข้อมูลต่างๆ ที่เราดำเนินงานตั้งแต่แรก ไปเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์กับโรงเรียนอื่นๆ นำใช้เป็นต้นแบบ

โครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือเด็กๆ ในโรงเรียนเท่านั้น ยังรวมถึงครอบครัวของนักเรียนด้วย เพราะน้องๆ ที่เรียนจบสามารถนำความรู้ไปต่อยอดเป็นอาชีพ จนมีรายได้เลี้ยงตัวเองและคนในครอบครัว

การเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้รู้สึกภูมิใจ สิ่งแรกที่เห็นชัดคือ นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้าถึงอาหารได้ง่ายขึ้น และได้รับสารอาหารครบถ้วน ส่วนชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งเรียนรู้วิธีการผลิต อุดหนุนผลผลิตจากฝีมือนักเรียน สิ่งเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาทางสังคมได้

ด้าน “หนู-กัญญาณัฐ กันเดช” จิตอาสาของ CPF ที่ดูแลโครงการฯ ที่ รร.บ้านใหม่สำโรง เผยว่า CPF เข้าไปช่วยพัฒนาแหล่งอาหารภายในโรงเรียน โดยสร้างเป็นฐานการเรียนรู้ต่างๆ เช่น เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกพืชผักสวนครัว เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ และเกิดความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งโรงเรียนมีจุดเด่นด้านการเพาะเห็ด ปัจจุบันนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเป็น น้ำพริกเห็ด แหนมเห็ด ส่งขายที่ตลาดในชุมชน โดย CPF ยังสนับสนุนเครื่อง Sensor เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือนเพาะเห็ดด้วย

ในส่วนของชุมชนได้มีส่วนร่วมกับโครงการฯ เป็นอย่างดี บูรณาการกับศูนย์การเรียนรู้ เพื่อนำผลิตภัณฑ์จากโรงเรียนไปวางขาย และนำข้อมูลของโครงการไปเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจต่อยอดเป็นอาชีพ

“ตั้งแต่ที่หนูร่วมกับโครงการฯ นี้ เราเห็นพัฒนาการหลายๆ อย่าง เช่น ทุพโภชนาการในเด็กลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งหมด รวมถึงการสร้างโอกาสให้กับเด็ก ให้พวกเค้ามีกิจกรรมและพัฒนาตัวเอง ทั้งความรับผิดชอบและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในขณะที่ชุมชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับทุกกิจกรรมที่ CPF เข้าไปสนับสนุน พวกเค้ามองว่าเราเป็นลูกหลาน เป็นคนในพื้นที่คนหนึ่ง ในฐานะคนทำงานจึงรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการดีๆ แบบนี้

ปัจจุบัน CPF ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน จำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 80 แห่ง ช่วยให้นักเรียนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล ได้รับอาหารที่ดี มีคุณภาพ และมีแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืน

Cr:Pr CPF