กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มอบใบรับรองห้องปฏิบัติการ ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ให้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ให้แก่ ห้องปฏิบัติการอาหารของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (นครราชสีมา) ที่ได้รับการรับรองในรายการทดสอบด้านจุลชีววิทยา และเคมีในชนิดตัวอย่างอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งทำให้ผลการทดสอบของห้องปฏิบัติการมีความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง แม่นยำ สร้างความเชื่อมั่นและส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เผยที่ผ่านมามีห้องปฏิบัติการของภาครัฐ และเอกชนที่ผ่านการรับรองแล้วจำนวน 506 แห่ง

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.ภัทรวีร์ สร้อยสังวาลย์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ เภสัชกรบรรจง กิติรัตน์ตระการ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา และคณะ มอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ ตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 : 2017 ให้แก่ ห้องปฏิบัติการอาหารของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (นครราชสีมา) ที่ได้รับการรับรองในรายการทดสอบด้านจุลชีววิทยา และเคมีในชนิดตัวอย่างอาหารและอาหารสัตว์เลี้ยง โดยมี ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร เป็นผู้รับมอบใบรับรองฯ ณ อาคารสำนักงาน โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (นครราชสีมา)

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการอาหารของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (นครราชสีมา) เป็นห้องปฏิบัติการหนึ่งในบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจผลิตไก่เนื้อครบวงจรส่งออก มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยกระบวนการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัยอาหารสามารถสอบกลับได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และปลอดภัยสู่ผู้บริโภค การได้รับการรับรองในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพจนได้รับความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ซึ่งจะส่งผลให้ผลการทดสอบของห้องปฏิบัติการมีความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง แม่นยำ เป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเพิ่มรายได้เข้าประเทศ จากการขายสินค้าที่มีมาตรฐานไปยังตลาดโลก ที่สำคัญ คือ เกิดประโยชน์ต่อการเจรจากับคู่ค้าในการที่ต้องยอมรับ ร่วมในผลการทดสอบที่รายงานโดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ โดยไม่ต้องทดสอบซ้ำ (Accredited Once, Accepted Everywhere)

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ เป็นหน่วยงานที่รับรองความสามารถห้องปฏิบัติการของประเทศ และมีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ให้การรับรองและผลักดันให้ห้องปฏิบัติการในประเทศ ได้รับการรับรอง รวมถึงสนับสนุนให้ห้องปฏิบัติการรักษาระบบบริหารคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพ ของห้องปฏิบัติการในประเทศต่อนานาประเทศ ทั้งนี้ในปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการของภาครัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรอง จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ จำนวน 506 แห่ง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีการขยายขอบข่ายรายการทดสอบมากขึ้นทุกปี เพื่อตอบสนองต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ และการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจ ตลอดจนการใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงกรณีมีข้อขัดแย้งในเรื่องมาตรฐานคุณภาพของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือการกำกับดูแลตามกฎหมาย” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

Cr. dmsc.moph.go.th