ดร.ธีระพล  ร่วมเสวนาออนไลน์ EEF FORUM : สำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระบุโควิด-19 ชี้ให้เห็นการขาดโอกาสการศึกษาของเด็กไทย แนะเทคโนโลยีสื่อสารช่วยเติมเต็มลดความเหลื่อมล้ำให้เด็กเข้าสู่ระบบการเรียนรู้ได้เท่าเทียม

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564  ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ร่วมเสวนาออนไลน์ EEF FORUM : สำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในวิกฤติโควิด-19 การศึกษาไทยเดินหน้าอย่างไร ไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการเรียนรู้ จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมี ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา ประจำธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย  คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ซีอีโอ บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด รองศาสตราจารย์ไพโรจน์ คีรีรัตน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ และ คุณปองพัน บุรีภักดี ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปกลุ่มงานบริหารการค้า บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ กล่าวว่า ปัจจุบันแม้จะไม่มีสถานการณ์โควิด-19 ประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของประเทศไทยก็มีอยู่แล้ว ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงการขาดโอกาสการเข้าถึงการศึกษา และเป็นเรื่องน่ายินดีที่คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ได้เข้ามาจุดประกาย โดยพัฒนาแอปพลิเคชั่น StartDee เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา   และได้ชวนเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มทรู เข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสที่เสมอภาคให้เด็กไทยทุกคน

เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มทรู มุ่งมั่นในเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาด้านการรศึกษา ซึ่งจากปัญหาโดยเฉพาะเด็กยากจนพิเศษที่มีกว่าร้อยละ 80 ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา จึงเห็นว่าเป็นหน้าที่ของเครือฯ โดยเฉพาะกลุ่มทรูที่จะเข้าไปช่วยเชื่อมโยง (Connectivity)  และช่วยเสริมให้มีการปรับตัวสู่การศึกษาออนไลน์ ปัจจุบันยังมีปัจจัยอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต และเนื้อหาข้อมูล ซึ่งในเรื่องอุปกรณ์นั้นจะต้องมีการจัดหาให้เพียงพอโดยไม่ต้องรอโควิด-19 ทั้งนี้เนื่องจาก เด็กไทยหลายคนเก่งมีพรสวรรค์แต่ยังขาดโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ทำให้มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ ซึ่งเด็กเหล่านี้จะเติบโตไปเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศในอนาคต

ดร.ธีระพล ยังกล่าวอีกว่า โควิด-19 ไม่ได้เข้ามาดิสรัพระบบการเรียนของเด็กอย่างเดียว แต่เข้ามาดิสรัพคุณครูผู้สอนด้วย ซึ่งก็ต้องมีการปรับตัวด้วยเหมือนกัน เมื่อก่อนคุณครูที่เก่งๆ สอนนักเรียนเพียง 40-50 คน วันนี้สามารถสอนได้เป็นหมื่นคน

“ผมได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาแอปพลิเคชั่น StartDee ของคุณพริษฐ์ เห็นได้ว่าวันนี้น้อง ๆ มีโอกาสที่ได้เรียนกับคุณครูที่เก่ง ๆ และคุณครูที่อยู่ในที่ต่าง ๆ ก็สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกันกับนักเรียนได้อีกด้วย สิ่งที่สำคัญก็คือ นักเรียนจะต้องปรับตัว เราคุยถึงเรื่องไทยแลนด์ 4.0 แต่วันนี้นักเรียนยังไม่สามารถเข้าถึง notebook และสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้”

นอกจากนี้ การนำเอาระบบการศึกษาเข้ามาสู่มือถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งยังมีเด็กยากจนจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การที่กลุ่มทรูเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดช่องว่าง แต่ปัญหาการศึกษาของประเทศไทยในวันนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มเล็ก ๆ เพียงกลุ่มเดียว บทบาทของภาคเอกชนไม่สามารถเปลี่ยนนโยบายด้านการศึกษาได้ สามารถทำในในส่วนที่สามารถทำได้

ดร. ธีระพล  ยังได้แชร์ประสบการณ์และมุมมอง โครงการคอนเน็กซ์อีดี ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มทรู ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์  มีแนวคิดตั้งต้น และชวนพันธมิตรเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับการจัดการการศึกษาในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สอดคล้องตาม 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การเปิดเผยข้อมูลโรงเรียนสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส (Transparency) กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanism) การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals & Teachers) เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum) และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures) ซึ่ง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มทรูในฐานะภาคเอกชนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่าง โดยมอบซิมให้แก่น้อง ๆ ที่เสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาให้สามารถเข้าไปเรียนรู้ในแอปพลิเคชั่น StartDee ได้ฟรี และกลุ่มทรูยังมี VLEARN แพลตฟอร์มเพื่อการบริหารจัดการการเรียนการสอนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบหรือใช้ประกอบการเรียนในชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กลุ่มทรูยังมีพนักงานเข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียนและมีการจ้าง ICT Talent ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและส่งเสริมให้ผู้อำนวยการ ครู และชุมชน สามารถประยุกต์ใช้สื่อและอุปกรณ์ ICT ในการบริหารจัดการการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง ดร.ธีระพล กล่าวในตอนท้ายว่า “ในนามของกลุ่มทรู มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการช่วยให้เด็ก ๆ เข้าถึงการศึกษา หรือกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างทั่วถึง”