ซีพี หนุน กอ.รมน.จ.น่าน ขับเคลื่อนขยายผล “โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ “ สบขุ่นโมเดล

เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินการงานด้านความยั่งยืนในมิติการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคน จ.น่าน ตั้งแต่ปี 2559 โดยเริ่มต้นที่ บ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ได้ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ฯลฯ ส่งเสริมการปลูกกาแฟทดแทนการปลูกข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันมีเกษตกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 97 ครัวเรือน พื้นที่ 4,899 ไร่ เดิมเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด 4,168 ไร่ ปลูกข้าวและอื่นๆ 731 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 2,170 ไร่ (ลดลง 1,998 ไร่) ,ข้าวและอื่นๆ 731 ไร่ , แปลงกาแฟอราบิก้าโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ 630 ไร่ และคืนพื้นที่ปลูกข้าวโพด (ละเหล่า) จนเกิดป่าโดยไม่ต้องปลูก 1,470 ไร่ ทำให้เกิดพื้นที่สีเขียว ได้ป่ากลับคืนมา

พ.อ.นิรันดร์ชัย ทิพย์กาญจนกุล รอง ผอ.รมน.จ.น่าน ได้ประชุมเพื่อขับเคลื่อน “โครงการสบขุ่นโมเดล สร้างป่าสร้างรายได้” ผลจากการประชุมฯ ทุกหน่วยพร้อมให้การสนับสนุนการขยายผลโครงการฯ ตามเป้าหมายของ เครือฯ ที่จะทำการส่งเสริมตามความต้องการของเกษตรกร ในการปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ กาแฟ อะโวกาโด โกโก้ และมะม่วงหิมพานต์ เพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดเพิ่มเติม ซึ่งในการประชุมประชาคมหมู่บ้าน ได้มีการรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม และภายใต้เงื่อนไขการปลูกพืชพื้นที่ 1 ไร่ ต้องคืนผืนป่า 2 ไร่ รวมถึงมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการไม่เลิกล้มก่อนที่จะเก็บผลผลิต โดยมีผู้นำจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (แพร่) ตัวแทนผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้น่าน ปลัดอาวุโสอำเภอท่าวังผา หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอท่าวังผา หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าขุนน้ำยม กำนันตำบลขุนควร (ตัวแทนนายอำเภอปง) นายก อบต.ป่าคา นายก อบต.ขุนควร นายก อบต.ผาช้างน้อย และเครือเจริญโภคภัณฑ์

คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านปฏิบัติการความยั่งยืนและกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืน และธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เน้นย้ำว่าเครือให้ความสำคัญ พร้อมบูรณาการ และขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างธุรกิจชุมชน สู่ความยั่งยืน การถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่แก่ชาวบ้าน การปลูกกาแฟและพืชผสมผสานเพื่อลดพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายจากการทำไร่เลื่อนลอย และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักและลงมือทำอย่างจริงจังบนความเหมาะสมของการใช้พื้นที่ จะสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ตลอดจนทำให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป