เปิดแนวคิด ‘2 ผู้นำรุ่นใหม่เครือฯ CP’ พัฒนาธุรกิจเกษตร ก้าวสู่ Social Enterprise

เครือเจริญโภคภัณฑ์ผลักดันคนรุ่นใหม่ ร่วมผนึกกำลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในมิติธุรกิจเกษตร จากนักเรียนทุนสถาบันสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สู่การทำงานเพื่อชุมชน ด้วยความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาอย่างตรงจุดพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ

คุณภัทราภรณ์ พลอยวิเลิศ ผู้จัดการแผนก ด้านธุรกิจเพื่อสังคม ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่จากรั้ว PIM คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ที่ก้าวเข้ามาขับเคลื่อนด้านธุรกิจเพื่อสังคม เธอมองว่า งานด้านนี้เป็นงานที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย มีความน่าสนใจ เพราะมีหลายสิ่งที่แตกต่างจากการทำธุรกิจทั่วไป

“อยากส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกิจรูปแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ ๆ ในสังคมธุรกิจเมืองไทย ความท้าทายในธุรกิจเพื่อสังคม คือ การดำเนินธุรกิจอย่างไรให้เกิดกำไร และนำส่วนหนึ่งมาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ได้ ภายใต้ข้อจำกัดและการแข่งขัน ทั้งทางด้านราคา คุณภาพ หรือแม้แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว”

จากการทำงานเธอพบว่าสิ่งสำคัญ คือ การบริหารต้นทุนการผลิตพร้อมกับควบคุมคุณภาพสินค้า ให้สามารถทำราคาที่แข่งขันในตลาดได้ ซึ่งจุดแข็งของเครือฯ จะสามารถสนับสนุนและเอื้อประโยชน์ให้แก่วิสาหกิจชุมชนได้ ทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยีในการผลิต ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมด้านตลาดที่สามารถรองรับผลผลิตได้จริง

เธอยังบอก อีกว่า ‘เป้าหมายหลักในการทำงานของเรา คือ สร้างความยั่งยืนด้านรายได้ของเกษตรกร และสิ่งแวดล้อมป่าไม้ในพื้นที่ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อชุมชนสามารถขับเคลื่อนธุรกิจเองได้ เพราะมีรายได้จึงเกิดการฟื้นฟูป่า และเพราะมีป่าจึงสามารถปลูกกาแฟสร้างรายได้ให้ชุมชนเช่นกัน”

ปัจจุบันโครงการสบขุ่นโมเดล ในพื้นที่บ้านสบขุ่น จ.น่าน นอกจาก  การปลูกกาแฟแล้ว ยังมีแผนในการสร้างรายได้นอกภาคการเกษตร ด้วยศักยภาพของพื้นที่และชุมชน เครือฯ จึงมองเห็นถึงโอกาสที่จะทำให้บ้านสบขุ่น เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Community Base Tourism) และคาดว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ช่วยพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านคุณชัชวีร์ นามวัฒน์ ผู้จัดการแผนก ด้านธุรกิจเพื่อสังคม ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อีกหนึ่งกำลังคนรุ่นใหม่จากสถาบันฯ PIM คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร มีแนวคิดว่า งานด้านธุรกิจเพื่อสังคม เป็นโอกาสในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และพัฒนาร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมได้รับบทบาทหน้าที่ที่หลากหลาย ทำให้ต้องมีการพัฒนาและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ปลูกฝัง Growth Mindset ให้ตัวเอง

‘เราต้องเชื่อว่าเราทำสิ่งใหม่ได้อยู่เสมอ ทุกสิ่งเป็นไปได้ ต้องยอมรับว่าเราไม่รู้อะไร แล้วเราต้องเรียนรู้จากใคร จากที่ไหน ทำยังไงให้สิ่งใหม่เหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริง’

ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นสิ่งใหม่ที่คนรุ่นใหม่ยังรู้จักน้อย และเป็นสิ่งที่ควรมีเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งในเมืองไทย ความท้าทาย คือ การรับไม้ต่อจากรุ่นผู้สร้างไปยังคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้เกิดการสานต่อได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเครือฯ มีทีมงานประจำในพื้นที่นั้น ๆ ร่วมถ่ายทอดความรู้ ช่วยคิดและบริหารจัดการ เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันงาน ช่วยติดตามนโยบายและแผนงานให้เกิดขึ้นจริง  แต่ยิ่งไปกว่านั้นต้องทำให้ชุมชนสามารถดำเนินการทั้งหมดได้ด้วยตนเอง มีใจที่จะเป็นเจ้าของ เพื่อมุ่งสู่ Social Enterprise ที่แท้จริง

‘เราเหมือนลมที่ทำยังไงก็ได้ ให้เขาสามารถบินต่อเองได้ แล้วเราถอยออกมา จากการทำงานที่ผ่านมาชุมชนเกิดการสร้างความเชื่อมั่นแบบใหม่ ไม่เพียงแค่เชี่ยวชาญในการผลิต แต่จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า ถ่ายทอดเป็น ส่งมอบคุณค่าเหล่านั้นให้ถึงมือลูกค้า ซึ่งสุดท้ายจะเป็นการเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนกลับสู่ชุมชน”

เครือฯ ร้อยเรียงความดีเดินหน้าพัฒนาชุมชน ร่วมคิดอย่างมีกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้เข้าถึงปัญหาและแก้ไขได้อย่างมีระบบ พร้อมเป็นเพื่อนร่วมทาง ผลักดันธุรกิจชุมชนไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) สร้างสามประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ชุมชน