5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ชูเกษตรกรต้นแบบ กับแนวคิดการอนุรักษ์ป่า ด้วยการปลูก “กาแฟ สร้างป่า” ในโครงการ “อมก๋อย โมเดล”

เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิถุนายน) มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้ดำเนินโครงการด้านปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ โดยเล็งเห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำภาคเหนือ ใน อ.อมก๋อย ตามนโยบายเครือฯ ที่ให้ความสำคัญด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ซึ่ง อ.อมก๋อย ถือเป็นพื้นที่ป่าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนและเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า

โดยตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี (ตั้งแต่ปี 2564 – ปัจจุบัน) ที่มูลนิธิฯ เข้าไปขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการพัฒนาอาชีพ การยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เป็นการสนับสนุนให้ “คนอยู่ร่วมกับป่า” อย่างสมดุล ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์ของโครงการฯ ที่สำคัญ คือ การปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ ด้วยการปลูกป่าต้นต้นน้ำเพื่อการอนุรักษ์ โดยสนับสนุนการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (Shade-grown Coffee) โดยมีเป้าหมายพื้นที่ปลูกกาแฟ รวม 1,000 ไร่ จะสามารถสร้างอาชีพ เพิ่มพูนรายได้จากผลผลิตให้กับเกษตรกรในชุมชน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่าต้นน้ำอีกด้วย

“คุณยุพิน จะนะ” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟสร้างป่าบ้านมูเซอ ดอยม่อนจอง ที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในชุมชนในการรวมกลุ่มปลูกกาแฟ เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้การบริหารจัดการแปลงกาแฟ ตั้งแต่วิธีการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ การดูแลรักษาแปลงกาแฟ การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกวิธี การคัดแยกเกรดคุณภาพกะลา การแปรรูป ตลอดจนการจัดจำหน่าย โดยในปี 2566 นี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปกาแฟ สร้างแบรนด์พัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยจะเริ่มออกสู่ตลาดเพื่อรับนักท่องเที่ยวในปีนี้ อาทิ ศูนย์บริการการท่องเที่ยวดอยม่อนจอง บริหารโดยชุมชน เพื่อชุมชนบ้านมูเซอปากทาง และจุดชมวิวดอยมูเซอ ถือเป็นการทำการตลาดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นครั้งแรก

มุมมองของ “คุณยุพิน” ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่า ใน อ.อมก๋อย

คุณยุพิน เปิดใจว่า “…การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะว่าจะได้มีป่าไม้และแหล่งต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และจะได้มีทรัพยากรป่าไม้ให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในอนาคต อ.อมก๋อยเป็นพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำที่สำคัญ ด้วยวิถีการใช้ชีวิตของชุมชนบนพื้นที่สูงเป็นการอยู่กับป่าตั้งแต่อดีตจนถึงในปัจจุบัน มีการใช้ประโยชน์จากป่า เพื่อเป็นแหล่งหาอาหารและเป็นแหล่งทำการเกษตรเพื่อหารายได้ และใช้ประโยชน์จากป่าไม้มากมายในชีวิตประจำวัน…”

ความเชื่อของชุมชน/ชนเผ่าปกาเกอะญอ ในการอนุรักษ์ป่า

“…สำหรับพี่น้องชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภออมก๋อย มีการปลูกฝั่งความเชื่อในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าอมก๋อย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยปลูกฝั่งให้อนุรักษ์รู้รักษาใช้ประโยชน์จากป่าอย่างพอเพียง โดยเน้นการใช้ทรัพยากรป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากรุ่นสู่รุ่นภายใต้การอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน…”

ชุมชนบ้านมูเซอ ดอยม่อนจอง มีส่วนในการร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้

“…ชุมชนมีโอกาสมีส่วนร่วมในกิจกรรมมากมายเลยค่ะ ทั้งการทำแนวกันไฟ การทำฝายชะลอน้ำ และได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการทำแปลงกาแฟและไม้ผลเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสามารถสร้างรายได้ในอนาคต เป็นต้น…”

“…อยากฝากถึงคนในชุมชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าใน อ.อมก๋อย 3 เรื่อง คือ คำนึงถึงการอนุรักษ์และปกป้อง และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ช่วยกันรักษาความสะอาดภายในชุมชน และช่วยกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวบ้านมูเซอที่เกี่ยวข้องกับชุมชนบ้านมูเซอเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเข้ามาบ้านมูเซอเพื่อเข้าไปเที่ยวดอยม่อนจองตามฤดูกาล

“ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ และมีระบบนิเวศชุมชนที่ดีขึ้น”

“…ขอขอบคุณมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่เข้ามาส่งเสริมชุมชน โดยการชักชวนชาวบ้านมาร่วมอนุรักษ์และปกป้องฟื้นฟูผืนป่าต้นน้ำ และยังให้การสนับสนุนส่งเสริมการสร้างรายได้จากการทำการเกษตรที่เหมาะสม ผ่านโครงการ “อมก๋อย โมเดล” โดยทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม จัดตั้งกองทุนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เพื่อส่งเสริมการผลิตพืชมูลค่าสูงโดยไม่หวังผลตอบแทน รวมไปถึงเกษตรกรได้รับคำแนะนำในการคัดเลือกต้นกล้าที่ดีและมีคุณภาพในการปลูกพืชมูลค่าสูง นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ในการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี รู้จักการจดบันทึกและการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด