มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ชูโมเดล พัฒนาอาชีพด้านการบริบาล สนับสนุนทุนการศึกษา ผลิตนักบริบาลผู้ดูแลผู้สูงอายุเพิ่ม สอดรับสถานการณ์ผู้สูงอายุประเทศไทย

ปัจจุบัน “อาชีพนักบริบาลผู้สูงอายุ” เป็นส่วนหนึ่งของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่กำลังขลาดแคลน ด้วยปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดในอีก 15 ปีข้างหน้า มูลนิธิฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องผลิตนักบริบาลที่มีศักยภาพเพิ่ม ควบคู่กับการสร้างโอกาสในการมีอาชีพที่มั่นคง โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ผู้ที่สนใจแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เข้าอบรมในหลักสูตรด้านการบริบาล ภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล โดยร่วมมือกับ 6 ภาคีเครือข่ายได้แก่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, โรงเรียนเป็นเลิศการบริบาล, โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล, โรงเรียนจุฬารัตน์ อินเตอร์ เฮลท์, โรงเรียนดิษฐ์ราการบริบาล และ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ที่ได้เปิดสอนหลักสูตรด้านการบริบาลที่ได้การรับรองหลักสูตร

มาดูกันว่าเส้นทางสู่การเป็นนักบริบาลผู้สูงอายุมืออาชีพ ที่จะได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิฯ และผ่านการคัดเลือก และเข้าฝึกอบรมจนจบหลักสูตรจากสถาบันภาคีเครือข่าย มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง!?

 

1.ปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้เปิดรับสมัครผู้ที่ต้องการเข้ารับการอบรมในหลักสูตรนักบริบาล จำนวนปีละ 90 คน โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้ 

  1. สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า
  2. อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป – 45 ปี สัญชาติไทย ไม่จำกัดเพศ
  3. ฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา เข้าไม่ถึงโอกาสในการมีอาชีพที่มั่นคง
  4. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
  5. มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคร้ายแรงหรือโรคติดต่อร้ายแรง
  6. ไม่เป็นผู้ซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการทำงาน
  7. มีวุฒิภาวะและบุคลิกลักษณะเหมาะสมในการเป็นนักบริบาล

หมายเหตุ  :  แต่ละสถาบัน/หน่วยงาน อาจมีเงื่อนไขและคุณสมบัติเฉพาะเพิ่มเติม และขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอาจารย์ผู้สัมภาษณ์

โดยมูลนิธิฯ จะเปิดรับสมัครผู้ที่มีความสนใจศึกษาหลักสูตรการบริบาล ปีละ 2 รอบ รอบแรก เดือนก.ค. – ก.ย. รอบที่สอง เดือน ต.ค. – ธ.ค. โดยติดตามข่าวสารการรับสมัครได้ที่ Facebook page : มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ใครที่ไม่อยากพลาดโอกาสดีๆ ก็กดติดตามเพจนี้ไว้ได้เลย! https://www.facebook.com/CP.RLDF

  1. มีหลักสูตรการอบรมที่เปิดสอนในภาคีเครือข่ายทั้งหมด ดังนี้ หลักสูตรการดูแลสุขภาพเบื้องต้น 70 ชั่วโมง, หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง, และหลักสูตรการดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ 840 ชั่วโมง การอบรมในแต่ละหลักสูตรจะมีชั่วโมงเรียน และชั่วโมงปฏิบัติแตกต่างกัน ทั้งนี้ต้องเป็นบุคคลที่สามารถเรียนจบตลอดหลักสูตร และ พร้อมทำงานทันทีหลังเรียนจบ และทำงานในสายงานบริบาล/สาธารณสุขอย่างน้อย 1 ปี

  1. การจะเป็นนักบริบาลผู้สูงอายุได้ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจเป็นสำคัญ เพราะเป็นงานที่ต้องมีใจรักงานบริการ สำคัญคือ นักบริบาลผู้สูงอายุต้องมีจริยธรรมในการดูแลผู้สูงอายุด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ต้องเคารพในสิทธิและความต้องการ ความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ และความเชื่อของผู้สูงอายุ มีจิตเมตตา เอื้ออาทร และเป็นตัวกลางในการส่งเสริมให้ลูกหลานหันกลับมาใส่ใจดูแลผู้สูงอายุภายในบ้าน สร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ

  1. อาชีพนักบริบาลผู้สูงอายุ ถือเป็นวิชาชีพที่ต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญจึงเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูง รายได้มั่นคง และมีความต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน เนื่องมาจากสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย และสถานการณ์ผู้สูงอายุทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นขั้นบันไดอีกขั้นที่จะสามารถต่อยอดการศึกษาในด้านวิชาชีพพยาบาลอีกด้วย