มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท มอบโอกาส สร้างอาชีพ เติมเต็มความสุขบั้นปลายชีวิตให้กับผู้สูงอายุ ด้วยหัวใจของ “นักบริบาล”

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล และสนับสนุนทุนฝึกอบรมวิชาชีพด้านการบริบาลนับตั้งแต่ปี 2562 โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความรู้ด้านการบริบาลดูแลผู้สูงอายุ ในหลักสูตร 70 ชั่วโมง 420 ชั่วโมง และ 840 ชั่วโมง แก่ผู้ที่ขาดโอกาส และขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีอาชีพทางเลือกที่มั่นคง สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แล้วทั้งสิ้น 249 คน และประกอบอาชีพอยู่ในสายงานการบริบาลทั่วประเทศ โดยได้รับใบรับรองเป็นผู้ให้บริการจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข

ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ อย่างเต็มรูปแบบ จากข้อมูลตัวเลขอายุคนไทยที่กรมกิจการผู้สูงอายุได้บันทึกสถิติไว้ พบว่าเมื่อสิ้นปี 2565 ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็นจำนวน 19.21% ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย อาชีพนักบริบาลจึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างคุณค่าให้กับสังคมไทยในปัจจุบัน แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักอาชีพนี้มากนักว่านักบริบาลมีหน้าที่และบทบาทอย่างไร

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอาชีพนักบริบาล ผ่านผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ภายใต้ โครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล “นายอนุชิต​ วร​ภักดี”​ หนึ่งในผู้รับทุนฝึกอบรม ซึ่งปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นพนักงานของโรงพยาบาลผู้สูงอายุ Chersery Home International ทำหน้าที่เป็นนักบริบาลดูแลผู้สูงอายุประจำบ้านผู้ป่วย โดยก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ นายอนุชิต​ วร​ภักดี ​มีมุมมองต่อผู้สูงอายุว่าเป็น “บุคคลที่ควรค่าแก่การดูแลเอาใจใส่ เพราะผู้สูงอายุเป็นบุคลากรที่เคยสร้างคุณค่าและประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ครอบครัวและสังคม และเมื่อก้าวเข้าสู่วัยชรา ท่านก็ควรได้รับการปรนนิบัติดูแลอย่างเหมาะสม จึงทำให้ตนสนใจที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้”

จุดเริ่มต้นการมาเป็นนักบริบาล นายอนุชิต​ วร​ภักดี​ บอกเล่าว่า เมื่อทำงานมาหลากหลายรูปแบบจนถึงจุดหนึ่ง ตนค้นพบว่า ตัวเองมีใจรักในงานด้านการบริการ เพราะเป็นงานที่สร้างความสุขให้ผู้อื่น จึงมองหางานที่ต้องใช้ความสามารถทางด้านนี้เป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันอาชีพที่ตนมองหานั้นต้องสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมองหางานที่มีเกียรติสร้างคุณค่าและประโยชน์ทางสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอีกด้วย เมื่อเห็นประกาศของทางมูลนิธิฯ ก็ทำให้อยากศึกษาและทำความเข้าใจกับอาชีพนักบริบาลมากขึ้น จึงสมัครเข้าร่วมโครงการฯ

รู้จักอาชีพ นักบริบาล มาก่อนหรือไม่?
พอจะเข้าใจว่าเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ดูแลผู้สูงอายุ หรือดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เมื่อได้เข้ามาสัมผัสก็ค้นพบว่า เป็นอาชีพบริการอย่างหนึ่งที่ต้องใช้แรงใจ แรงกาย เป็นสำคัญ ประกอบกับต้องมีองค์ความรู้และทักษะเฉพาะด้าน เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโจทย์ที่สำคัญที่สุด คือ เราจะดูแลท่านอย่างไรให้ท่านมีความสุขตลอดช่วงบั้นปลายของชีวิต

บทบาท นักบริบาลที่ดูแลผู้สูงอายุ จริงๆ แล้วคืออะไร
สำหรับตนมองว่าอาชีพนักบริบาลเป็นอาชีพที่มีเกียรติพอๆ กับข้าราชการเลย เพราะหน้าที่ของเราเป็นมากกว่าการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุในชีวิตประจำวัน แต่ในทุกวันเรามีเป้าหมายหลัก คือ เราจะทำอย่างไรให้ท่านมีความสุข มีสุขภาพจิตที่ดี มีการดูแลอย่างถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ นักบริบาลยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับลูกหลานหรือคนในครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการไม่เข้าใจพฤติกรรมของผู้สูงอายุที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันของผู้สูงอายุกับลูกหลานให้เกิดการเอาใจใส่และเห็นอกการเห็นใจซึ่งกันและกันอีกด้วย

มองว่าอาชีพนี้มีคุณค่าต่อตนเองและต่อสังคมอย่างไร
สำหรับตัวเอง คือเราได้ใช้ความรักในอาชีพบริการของเราให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ทำให้เราเกิดเมตตาจิตที่ดี สร้างความสุขให้แก่ผู้อื่น ตัวเราเองก็มีความสุข และมีความภาคภูมิใจต่องานที่เราทำ ในทางสังคมอาชีพนักบริบาลถือเป็นอาชีพที่ยังไม่ได้รู้จักอย่างแพร่หลาย แต่เป็นที่ต้องการในสายงานพยาบาลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเรามีผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อยู่ตามสถานพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชนค่อนข้างเยอะ ทำให้ขาดแคลนแรงงานทางด้านนี้ ถ้าเราผลิตบุคลากรด้านการบริบาลเพิ่มมากขึ้นก็จะช่วยแบ่งเบาภาระงานพยาบาลตามสถานพยาบาลได้ และตัวผู้สูงอายุและผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลอย่างถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพแก่คนในสังคม เพราะเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีอีกด้วย

โครงการฯ นี้ และอาชีพนักบริบาล เปลี่ยนชีวิตเราไปอย่างไร
ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้เข้ามาอบรมในหลักสูตรอบรมวิชาชีพด้านการบริบาล ที่ทางมูลนิธิฯ ได้มอบทุนสนับสนุน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้มีวิชาชีพ มีความรู้ติดตัว ที่สามารถไปต่อยอดได้ในสายงานพยาบาล ทำให้เรามีรายได้ที่เพียงพอเหมาะสม เลี้ยงดูครอบครัวได้ และได้สังคมที่ดี ได้รู้จักคนที่มีความคิดเดียวกันจากการมาอบรมในครั้งนี้อีกด้วย เราทุกคนยังพูดคุยกันอยู่เลยว่า “มันไม่ง่ายเลยนะ ที่เราจะได้มาเจอคนที่มีเจตนารมณ์เดียวกันอย่างนี้” ก็ขอบคุณมากๆ ที่สร้างโครงการนี้ขึ้นมา และอยากเชิญชวนคนรุ่นใหม่ หรือน้องๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่มีใจรักด้านการบริการลองมาศึกษาเกี่ยวกับด้านบริบาลดู ลองเปิดใจ แล้วถ้าค้นพบว่าเราชอบสิ่งนี้ก็จะเป็นใบเบิกทางเพื่อต่อยอดในสายอาชีพนี้ได้อีกต่อไปในอนาคต

ปัจจุบันประเทศไทย ยังคงต้องการแรงงานด้านการบริบาลอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับอัตราส่วนจำนวนประชากรผู้สูงอายุภายในประเทศ ซึ่งมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้เล็งเห็นโอกาสและความสำคัญของอาชีพการบริบาล ซึ่งเป็นงานที่มีคุณค่าทางสังคม จึงจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล เพื่อสนับสนุนทุนการฝึกอบรมวิชาชีพการบริบาล แก่ผู้ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์ โดยจับมือกับภาคีเครือข่ายทั้งทางภาครัฐและเอกชน อย่างสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โรงเรียนเป็นเลิศการบริบาล โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล โรงเรียนดิษฐ์ราการบริบาล โรงเรียนจุฬารัตน์ อินเตอร์ เฮลท์ และ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น เปิดสอนหลักสูตรด้านการบริบาล ได้แก่ หลักสูตร 70 ชั่วโมง, 420 ชั่วโมง, และ 840 ชั่วโมง เพื่อสร้างนักบริบาล/บุคลากรทางด้านสาธารณสุข ที่มีคุณภาพให้กับประเทศชาติ สอดรับกับสถานการณ์ของสังคมผู้สูงอายุ และสอดรับกับค่านิยมองค์กรเรื่องความกตัญญู รู้คุณคน และการตอบแทนคุณแผ่นดิน 1 ใน 6 ค่านิยมองค์กรที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ยึดมั่นเป็นนโยบายสำคัญในการดำเนินงานมาโดยตลอดอีกด้วย