เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญร่วมบรรยายพิเศษ จาก สปป.ลาว ชูโมเดลการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าสินค้าการเกษตร คก.Re4rest : ปลูกเพื่อความยั่งยืนบน 4 ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน และพื้นที่ภาคอีสาน ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “Agricultural Food Value Chain Development” จัดโดย สถาบันค้นคว้ากสิกรรมป่าไม้และพัฒนาชนบท ร่วมกับ Asian Food and Agriculture Cooperation Initiative (AFACI) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานการเกษตรของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ ห้องประชุม โรงแรมทวีสุข เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

ในครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิธีการใช้เครื่องมือ “การวิเคราะห์โซ่คุณค่า (Value Chain Analysis)” สำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ และได้นำเสนอตัวอย่างการพัฒนาโครงการด้านความยั่งยืน ของหน่วยงานพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แก่ โครงการสบขุ่นโมเดล อ.ท่าวังผา จ.น่าน ของวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น, โครงการยกระดับการผลิตผักสู่ Veggie Hub ของวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี และการดำเนินงานของสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มุ่งเป้าพัฒนาสินค้าเกษตรจากวิสาหกิจชุมชนทั้ง 15 อำเภอใน จ.น่าน เป็นกรณีศึกษาประกอบการถ่ายทอดความรู้ด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 60 คน จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานเกษตรและป่าไม้ จากแขวงหลวงพระบาง แขวงเชียงขวาง แขวงคำม่วน และแขวงจำปาสัก นักวิจัยและเครือข่ายพันธมิตรจากกรมแผนงานและความร่วมมือ กรมส่งเสริมกสิกรรมและสหกรณ์ กรมคุ้มครองและพัฒนาที่ดินกสิกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรและการพัฒนาชนบทลาว-เกาหลี ตลอดจนผู้แทนนักธุรกิจเกษตรด้านการผลิตผักอินทรีย์ Tam Mang Organic Cooperative

โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าอบรมเกิดความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำเครื่องมือวิเคราะห์โซ่คุณค่าอาหารเกษตร ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรกลุ่มอาหารตามนโยบายภาครัฐ ได้แก่ ข้าว ผักอินทรีย์ และปศุสัตว์ ตลอดโซ่อุปทานการเกษตร รวมถึงเกิดความเข้าใจในการวางแผน บริหาร และจัดการกับโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรกลุ่มอาหาร ทราบบทบาทและหน้าที่ของตนในการร่วมดำเนินการ สนับสนุนให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตรตรงตามความต้องการตลาด ทราบวิธีการถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสมให้เกษตรกร รวมถึงเห็นโอกาสในการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดโซ่อุปทานการเกษตรของประเทศให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป