ธุรกิจพืชครบวงจรฯ ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อม 4 ชุมชน ปลูกป่าเศรษฐกิจ เชื่อมต่อป่าตะวันตก ฟื้นฟูระบบนิเวศ ตามยุทธศาสตร์การจัดการผืนป่าตะวันตก ที่ จ.กำแพงเพชร

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สดุดี สุพรรณไพ รองกรรมการผู้จัดการ สำนักบริหารความยั่งยืนธรรมาภิบาล และกำกับการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยกระบวนการป่าเศรษฐกิจ เพื่อแนวเชื่อมต่อป่า” พร้อมด้วยจิตอาสา ธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมด้วยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, ผู้แทนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง, ผู้แทนอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า, ชุมชน, แกนนำกลุ่มเกษตรกร และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 250 ราย โดยมีคุณภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมให้การต้อนรับ ณ บ้านไร่พิจิตร ม.15 ต.โกสัมพี อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร

​สำหรับกิจกรรม “โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยกระบวนการป่าเศรษฐกิจ เพื่อแนวเชื่อมต่อป่า” เป็นการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจแทนพืชไร่เชิงเดี่ยวให้กับชุมชน 4 บ้าน ใน จ.กำแพงเพชร ได้แก่ บ้านไร่พิจิตร, บ้านหนองบัวสามัคคี, บ้านหนองแดน และบ้านปางขนุน ครอบคลุมพื้นที่ 6,000 ไร่ นับเป็นหนึ่งกิจกรรมในโครงการจัดการพื้นที่ป่าสงวนและแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ธุรกิจพืชครบวงจรฯ ให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมผ่านมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มาตั้งแต่ปี 2563 โดยพื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญของประเทศไทย เนื่องจากผืนป่าตะวันตก มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่า และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูพื้นที่ เพื่อนำไปสู่ต้นแบบการเชื่อมป่าใช้กระบวนการป่าเศรษฐกิจโดยชุมชนเป็นเจ้าของ ซึ่งสภาพพื้นที่ๆ มีปัญหา ผืนป่าที่เป็นเขตอนุรักษ์ถูกแยกออกจากกัน พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง มีชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์ทำให้สภาพป่าถูกตัดขาด และชุมชนปลูกพืชเชิงเดี่ยวในที่ดินของกรมป่าไม้

ทั้งนี้โครงการฯ มีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อป่าระหว่างอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสการกระจายตัวของระบบนิเวศ และเป็นการสร้างต้นแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยกระบวนการปลูกป่าเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน มีการทำรูปแบบการชดเชยการเสียโอกาสจากการปลูกป่า และใช้เป็นพื้นที่นำร่องการจัดการคาร์บอนเครดิตในกระบวนการปลูกป่าเศรษฐกิจ โดยการสร้างพื้นที่แนวเชื่อมต่อป่านี้ มีเป้าหมายในการใช้ประโยชน์ทั้ง 6,000 ไร่ นี้

ปัจจุบันมูลนิธิสืบฯได้ร่วมกับกรมป่าไม้ทำการสำรวจรับรองพื้นที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการรับรองแล้ว 800 ไร่ รอการพิจารณาอนุมัติอีก 5,200 ไร่ และมีเป้าหมายที่สำคัญ เพื่อสร้างการกระจายตัวของระบบนิเวศในรูปแบบที่เรียกว่า Stepping Strone เป็นการสร้างกลุ่มหย่อมป่าให้เป็นหย่อมป่าที่เชื่อมหากันแล้วสร้างโอกาสการกระจายตัวให้สัตว์ป่าสามารถเดินเชื่อมไปมาระหว่างพื้นที่ได้ ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ที่มีศักยภาพ 7 โซน โดยทั้ง 7 โซน จะทำการส่งเสริมปลูกต้นไม้ทั้ง 6,000 ไร่ ปัจจุบันได้ดำเนินการโซนที่ 4 และโซนที่ 3 มีราษฎรที่เป็นสมาชิกเข้าร่วมโครงการแล้ว 64 ราย ปลูกต้นไม้แล้ว จำนวน 16,000 ต้นปลูกในปี 2565 จำนวน 8,553 ต้น คิดเป็น 14% ของพื้นที่โครงการฯ และวางเป้าหมายปลูกในปี 2666 นี้ จำนวน 8,000 ต้น และมีแผนขยายการปลูกให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 7 โซนต่อไป ทั้งนี้สมาชิกส่วนใหญ่สมัครใจปลูกไผ่ ซึ่งเป็นไม้โตเร็ว เติบโตแบบทวีคูณ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งเป็นพืชที่สามารถดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามการรับรองขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ด้วย ทั้งนี้ธุรกิจพืชครบวงจรฯ ยินดีที่จะให้การสนับสนุนกิจกรรมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนกิจกรรมการดำเนินโครงการฯ ร่วมกันระยะต่อไป

                         

#โครงการปลูกป่า
#ธรรมชาติปลอดภัย
#CptgCropGreatStory
#เรื่องเล่าข่าวดีดี