เปิดโลก Data Center ทำไม “ไทย” ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคระดับโลก

การลงทุนด้าน “Data Center” ของ “ไมโครซอฟท์” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกในประเทศไทยกำลังร้อนแรง มาทำความรู้จักกับดาต้าเซนเตอร์และหาคำตอบว่าอะไรคือจุดเด่นที่ทำให้ไทยดึงดูดการลงทุน

การเยือนอาเซียนของ “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอ บริษัท ไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี ถือเป็นจุดสนใจของนักธุรกิจที่จับตามองการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งจะมาเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างแน่นอน

เมื่อไม่นานมานี้ การเยือนอินโดนีเซียของ ซีอีโอไมโครซอฟท์ ได้ประกาศแผนลงทุนมหาศาลกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 63,000 ล้านบาท) ในช่วง 4 ปีข้างหน้า เพื่อขยายบริการคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ในอินโดนีเซีย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในศักยภาพของตลาดอาเซียน

ล่าสุด การเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ประกาศตั้ง Data Center แห่งแรกในไทย พร้อมด้วยแผนงานยกระดับความสามารถด้าน AI ให้กับคนไทย แต่ยังไม่ประกาศตัวเลขการลงทุนชัดเจน ในงาน “Microsoft Build: AI Day” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นเวทีพบปะสำหรับชุมชนนักพัฒนา ผู้นำองค์กร และผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม

ในงานดังกล่าว “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในไทย ซึ่งจะเอื้อต่อการลงทุนของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการผลักดันการลงทุนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อตอบรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรมในภูมิภาคนี้

ในยุคที่ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ายิ่งของทุกองค์กร การจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง หัวใจหลักของการบริหารจัดการข้อมูลในปัจจุบันคือ” Data Center ” ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดขององค์กรไว้ในสถานที่เดียวกัน

Data Center ไม่ใช่แค่พื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูลธรรมดาๆ แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อนและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล ทั้งการประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาล จัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงรองรับระบบงานสำคัญๆ ขององค์กร

“สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอ บริษัท ไมโครซอฟท์ ในงาน “Microsoft Build: AI Day”

การลงทุน Data Center จึงกลายเป็นกระแสนิยมของบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลขนาดมหึมาในอนาคต ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการลงทุนดาต้าเซนเตอร์ด้วยปัจจัยสำคัญหลายประการ

รู้จัก Data Center ว่า คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีวิตในโลกยุคดิจิทัล รวมถึงเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นดินแดนแห่งโอกาสของการลงทุน Data Center ครั้งสำคัญจากบรรดายักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีทั่วโลก

Data Center คืออะไร

ดาต้าเซนเตอร์ (Data Center) หรือศูนย์ข้อมูล เพื่อรองรับระบบสำคัญๆ เช่น ฮาร์ดแวร์ หรือเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ สำหรับการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัล ในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เทรนด์การใช้งานด้าน AI, Cloud Computing, Data และ IOT เพิ่มมากขึ้น ทั้งในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐบาล

Data Center สำคัญอย่างไร

  • ศูนย์กลางการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลสำคัญขององค์กร
  • รองรับการทำงานของระบบ เช่น ระบบการเงิน ระบบฐานข้อมูลลูกค้า เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการรวมศูนย์ทรัพยากรไอทีไว้ที่เดียว สะดวกในการจัดการและบำรุงรักษา
  • มีระบบรักษาความปลอดภัยและมาตรฐานสูง ปกป้องข้อมูลสำคัญและความต่อเนื่องทางธุรกิจ
  • สำคัญต่อบริการคลาวด์ เนื่องจากผู้ให้บริการคลาวด์ต้องมีดาต้าเซนเตอร์ขนาดใหญ่เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า
  • เปิดโอกาสทางธุรกิจ เช่น บริการ Co-location ให้เช่าพื้นที่และทรัพยากรภายในดาต้าเซนเตอร์

จะเห็นว่า ธุรกิจให้บริการ Cloud Platform Provider รวมถึง Data Center ขึ้นแท่นเป็นธุรกิจดาวรุ่ง โดยมีบทบาทในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับการรองรับระบบนิเวศด้านข้อมูลที่ต่อเนื่องยังเรื่องของการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ไทย จุดยุทธศาสตร์ใหม่ของบริษัทเทคโนโลยีลงทุน Data Center

ประเทศไทยกำลังก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการลงทุนด้านดาต้าเซนเตอร์ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ด้วยปัจจัยหลายประการ ดังนี้

  • ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเชื่อมต่อที่สะดวกสำหรับการให้บริการ Data Center ในระดับภูมิภาค นั่นหมายถึง ดีมาน์ของการบริการดิจิทัลที่อยู่ในระดับสูง
  • โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตใยแก้วนำแสงที่ทันสมัย รองรับการรับส่งข้อมูลปริมาณมหาศาล
  • ต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งด้านค่าแรงงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่าพื้นที่ เป็นข้อได้เปรียบสำหรับการลงทุน
  • นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดาต้าเซนเตอร์ถือเป็นหนึ่งในกิจการเป้าหมายที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการส่งเสริมต่างๆ อาทิ สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี จาก สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  • กำลังคนที่มีทักษะด้านไอที ประกอบกับต้นทุนแรงงานที่ไม่สูงมาก จึงเอื้อต่อการจ้างงานด้าน Data Center

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ปี 2568 มูลค่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” ประเทศไทย (GMV) จะทะยานไปแตะ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะมีมูลค่าประมาณ 1-1.65 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2573

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ