“รองนายกฯเศรษฐกิจ” แย้ม “คนละครึ่งเฟส 5” มีเงินพอ จ่อออกมาตรการเพิ่ม

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ว่า ขณะนี้แผนต่าง ๆ กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างการประเมินและจะผลักดันออกมาในช่วงจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งยืนยันว่า ตอนนี้ยังมีเงินกู้เหลืออยู่เพียงพอ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

“ก.คลังกำลังประเมินโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ในจังหวะที่เหมาะสม เช่น สถานการณ์ในยุโรปยืดเยื้อหรือรุนแรง ก็จำเป็นต้องกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันยืนยันว่า ยังพอมีเงินทำมาตรการ”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวกล่าวถึงกรณีการประกาศตัวเลขจีดีพีของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยปรับลดประมาณการทั้งปีลงจาก 3.5-4.5% เหลือ 2.5- 3.5% ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าจะดี
ส่วนครึ่งปีหลังคงต้องประเมินสถานการณ์แบบเดือนต่อเดือนก่อนพิจารณาว่า จะมีมาตรการออกมากระตุ้นเพิ่มเติมอีกหรือไม่

สำหรับโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งเดือนก.ย. 2563 ถึงปัจจุบัน ดำเนินโครงการมาแล้วรวม 4 ครั้งด้วยกัน พบว่า ได้ใช้วงเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ ทั้ง 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านไปแล้ว คิดเป็น กรอบวงเงินประมาณ 2.22 แสนล้านบาท โดยมีข้อมูล ดังนี้

คนละครึ่ง เฟส 1
• วงเงินโครงการ 30,000 ล้านบาท
• วงเงินใช้จ่ายคนละ 3,000 บาท
• ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน

 

คนละครึ่ง เฟส 2
• วงเงินโครงการ 22,500 ล้านบาท
• ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 15 ล้านคน แยกเป็น ผู้ได้รับสิทธิรอบแรกไปแล้ว 10 ล้านคน ได้รับเงินเพิ่มคนละ 500 บาท และผู้ลงทะเบียนใหม่ 5 ล้านคน ได้รับวงเงินคนละ 3,500 บาท

 

คนละครึ่ง เฟส 3
รอบแรก

• วงเงินโครงการ 93,000 ล้านบาท
• วงเงินใช้จ่ายคนละ 3,000 บาท
• ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน

รอบเพิ่มเติม
• วงเงินโครงการ 42,000 ล้านบาท
• เพิ่มวงเงินใช้จ่ายให้อีกคนละ 1,500 บาท
• ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 28 ล้านคน

 

คนละครึ่ง เฟส 4
• วงเงินโครงการ 34,800 ล้านบาท
• วงเงินใช้จ่ายคนละ 1,200 บาท
• ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 29 ล้านคน

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการคนละครึ่ง เฟส 5 หากรัฐบาลตัดสินใจทำอีกครั้ง อาจต้องใช้เงินไม่น้อยไปกว่า เฟส 4 แต่ก็ขึ้นอยู่กับวงเงินของการใช้จ่ายในโครงการว่า จะได้รับการอนุมัติวงเงินให้คนละเท่าไหร่ เพราะถ้าเทียบเคียงกับ เฟส 4 แล้ว น่าจะต้องใช้เงินสูงถึง 3.4 หมื่นล้านบาท

ที่มา สยามรัฐ