9 อาชีพอนาคตไกล ที่จะไม่โดนหุ่นยนต์มาแทนที่ พร้อมเหตุผลจากนักเศรษฐศาสตร์

พอพูดถึงโลกการทำงาน สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ‘การตกงานเพราะเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่’ เพราะในวันที่เทคโนโลยีเติบโตไปไกล หลายอาชีพเริ่มต้องลดบทบาทลง จนบางอาชีพก็เริ่มสูญหายไปจากสังคม ทำให้การเลือกงาน หรือเลือกเรียนสาขาอะไร ต้องคำนึงว่าสาขาอาชีพนั้นจะถูกหุ่นยนต์มาแทนที่หรือไม่
.
คำถามคืออาชีพไหนที่พอจะวางใจได้บ้าง ว่าจะอยู่รอดปลอดภัยในอนาคต วันนี้ BrandThink จะพาทุกคนมารู้จักกับ 9 อาชีพที่น่าจะอยู่รอดปลอดภัย แม้เทคโนโลยีจะเติบโตไปแค่ไหนก็ตาม
.
(ข้อมูลนี้มาจากการวิเคราะห์ของคุณ Mariano Mamertino นักเศรษฐศาสตร์จาก EMEA ของเว็บไซต์ Indeed และ Glassdoor เว็บไซต์ด้านการงานชื่อดัง)
.
1. เชฟ
.
การได้ออกไปทานข้าวนอกบ้านเพื่อลองเมนูใหม่เป็นกิจกรรมโปรดของใครหลายคน เมนูพวกนี้ต้องใช้เชฟที่มีทั้งความสามารถด้านการปรุงและชิมอาหารเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารจานเด็ด จึงไม่แปลกหากลูกค้าจะไว้ใจให้เชฟตัวเป็นๆ รังสรรค์เมนูสุดพิเศษมากกว่าจะให้เชฟหุ่นยนต์ทำอาหาร เชฟจึงเป็นอาชีพที่อยู่รอดในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ในเกือบทุกอย่าง โดยตำแหน่งเชฟบนเว็บไซต์ Indeed มักจะว่างนานกว่า 3 เดือน
.
2. งานการตลาด งานสื่อสาร และงานออกแบบ
.
งานพวกนี้ต้องใช้การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และจินตนาการอันล้ำเลิศเพื่อออกแบบไอเดียใหม่ๆ แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้ามากแค่ไหนแต่หุ่นยนต์ก็คงปิ๊งไอเดียดีๆ ไม่เก่งเท่ามนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์ใช้การระดมสมอง ขยายขอบเขตความคิดธรรมดาให้กว้างและหลากหลายแง่มุมเพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเท่าสมองมนุษย์ เพราะฉะนั้นหากคุณมีความคิดสร้างสรรค์ยังไงก็อยู่รอดในยุคนี้แน่นอน
.
3. ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ
.
แน่นอนว่าเราไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีมาทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะงานพวกนี้ต้องใช้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในการสื่อสาร บุคลากรด้านสุขภาพควรมีความละเอียดอ่อนในการซักถามอาการและอธิบายอาการของผู้ป่วยด้วยความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำได้ ข้อมูลจากเว็บ Indeed เผยว่าตอนนี้งานพยาบาลที่บ้านยังเป็นงานที่ขาดแคลนบุคลากรมากที่สุด เพราะฉะนั้นหากคุณทำงานพยาบาล ยังไงก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแน่นอน
.
4. งานด้านการศึกษาและฝึกอบรม
.
แม้ปัจจุบันจะมีการนำเทคโนโลยีช่วยสอนเข้ามาใช้ในการเรียนการสอนตามโรงเรียน แต่อาชีพนี้ยังต้องการความละเอียดอ่อนในการอธิบายบทเรียนยากๆ และความกระตือรือร้นที่จะดูแลเอาใจใส่นักเรียนในเรื่องอื่นๆ การมีครูที่นักเรียนสามารถซักถามข้อสงสัยต่อหน้าย่อมดีกว่าเรียนผ่านจอหรือผ่านหุ่นยนต์แน่นอน จากข้อมูลเว็บ Indeed ตำแหน่งงานด้านการสอนว่างเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
.
5. ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
.
บุคลากรด้านไซเบอร์ในปัจจุบันมีจำนวนเยอะพอสมควร แต่กลับยังขาดแคลนเนื่องจากความต้องการในตลาดก็เยอะตามไปด้วย อาชีพนี้ต้องใช้ความรอบคอบเพื่อตรวจสอบช่องโหว่ของระบบ หากผิดพลาดอาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ระดับประเทศหรือระดับโลกเลยทีเดียว บนเว็บไซต์ Indeed จำนวนโพสต์รับสมัครบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์จึงไม่น่าจะมาแทนที่มนุษย์ในงานประเภทนี้ได้ในเร็วๆ นี้
.
6. ทรัพยากรบุคคล
.
เทคโนโลยีที่ใช้สืบประวัติผู้สมัครงานผ่านอินเทอร์เน็ตอาจช่วยลดภาระงานทรัพยากรบุคคลได้มาก แต่แน่นอนว่าการเฟ้นหาบุคลากรเข้ามาทำงานในองค์กรหรือบริษัทต้องใช้ความละเอียดอ่อนมากกว่านั้น HR ต้องคัดคนเข้าทำงานโดยอาศัยการสัมภาษณ์พูดคุยเพื่อคัดกรองผู้สมัครที่มีความพร้อมทางวุฒิภาวะ และอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นทักษะที่หุ่นยนต์ยังฝึกไม่ได้ในอนาคตอันใกล้
.
7. งานเดลิเวอรี่และการจัดการโลจิสติกส์
.
แม้ช่วงปีที่ผ่านมามีการเสนอให้ใช้โดรนส่งของและจัดส่งพัสดุ แต่โดรนและเทคโนโลยีการขนส่งก็ยังต้องอาศัยมนุษย์ในการกำกับดูแลจัดการอยู่ดี นอกจากนี้การใช้โดรนส่งของยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องประเมินให้ดี เช่น มลภาวะทางเสียง การจราจรบนน่านฟ้าที่หนาแน่น และความปลอดภัยของโครงสร้างโดรน เพราะฉะนั้นอาชีพเดลิเวอรี่จึงยังจำเป็นอยู่มากในปัจจุบัน จากข้อมูลของเว็บ Indeed ประกาศรับสมัครหาคนขับรถส่งของมักจะว่างบนเว็บนานถึง 60 วันหรือเกินกว่านั้น
.
8. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
.
นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต้องวิเคราะห์หารูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ การพัฒนาสินค้า บริการ รวมทั้งทำนายผลประกอบการ อาจมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบอัลกอริธึมและเขียนโค้ด แต่นอกเหนือจากนั้นเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องประยุกต์ความเชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์และทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อเลือกใช้ข้อมูลอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อพัฒนาองค์กรต่อไป
.
9. พนักงานพาร์ทไทม์และฟรีแลนซ์
.
การทำงานแบบระยะสั้น เช่น คนขับ Grab งานฟรีแลนซ์ หรือ งานบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่เอนเอียงไปทางงานอิสระที่สามารถจัดสรรเวลาของตัวเองได้ โดยต้องอาศัยความยืดหยุ่นและอิสระในการทำงาน ซึ่งเป็นทักษะที่หุ่นยนต์ไม่มี
.
แม้ว่าในปัจจุบันหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในหลายอาชีพแต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่นความคิดสร้างสรรค์ ความละเอียดอ่อน ปฏิสัมพันธ์ อารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจ และประสบการณ์ที่แตกต่างกันของมนุษย์แต่ละคน ทักษะเหล่านี้ทำให้หุ่นยนต์และเทคโนโลยียังเข้ามาแทนที่งานของมนุษย์ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในหลายสาขาอาชีพ
.
ถึงจะสบายใจได้ว่าเทคโนโลยีมีขีดจำกัดความสามารถ แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในอนาคตยังเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำนายได้ เรายังจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเพิ่มพูนทักษะ พัฒนาความสามารถ และกล้าที่จะปรับตัวเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองอยู่เสมอ
.
อ้างอิง: 9 “Future-Proof” Careers, According To The World’s Largest Job Site. https://bit.ly/3uHKB9S
ที่มา BrandThink