“ธนาคารน้ำใต้ดิน” อีกนวัตกรรมดีๆจากทีมงานสุกรซีพีเอฟ

การส่งผลงานนวัตกรรม มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2020 ไม่เพียงมีผลงานที่ส่งเข้ามามากมายรวมทั้ง 3 ด้านได้แก่ด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยีและด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มีหลายผลงานที่น่าสนใจ นั่นคือผลงาน”ธนาคารน้ำใต้ดิน” ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมด้านสังคมของทีมงานจากสายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ ที่ประกอบด้วยนวัตกร คุณจิรพงษ์ ศรีสองเมือง คุณสุนิษา ญาณกิจ คุณกรรภิรมย์ เล็กสราวุธ คุณสิทธิเดช จอมป้อ คุณนเรศ ทัดเทียม คุณเอกชัย สมจันทร์

ทีมงานนี้บอกถึงที่มาของความคิดว่า “น้ำ”ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต น้ำมีความสำคัญกับชีวิตทั้งพืชและสัตว์ รวมถึงมนุษย์เรา อีกทั้งยังน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในด้านอุปโภคบริโภค ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การคมนาคม การผลิตพลังงาน การท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงมีความสำคัญที่ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ต่างๆด้วย ทางฟาร์มหนองหว้า1 ใช้น้ำในการเลี้ยงสุกรเป็นจำนวนมากและยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทางฟาร์มจึงได้คิดหาวิธีที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคให้ได้ตลอดทั้งปี โดยการทำธนาคารน้ำใต้ดินขึ้นมา เพื่อแก้น้ำแล้ง

ทีมงานบอกว่าธนาคารน้ำใต้ดิน คือ สถานที่เก็บน้ำฝนที่ตกลงมา เพื่อนำไปเก็บไว้ในชั้นหินอุ้มน้ำโดยใช้หลักการด้านวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของทิศทางการหมุนรอบตัวของโลกที่แตกต่างจากการจัดการน้ำบนผิวดิน คือการไหลของน้ำจากที่สูงลงที่ต่ำอีกทั้งน้ำบนผิวดินมีความเสี่ยงต่อการเจือปนของสารเคมี จากเดิมฝนตกเกิดน้ำท่วมขังและไหลทิ้งออกนอกพื้นที่ เราไม่สามารถนำน้ำนั้น มาใช้ประโยชน์ได้ จึงได้นำหลักของธนาคารน้ำใต้ดินมาใช้ในพื้นที่ โดยวิธีทำธนาคารน้ำใต้ดิน นำน้ำฝนที่ตกลงมาไปกักเก็บไว้ใต้ดินให้ได้มากที่สุด เมื่อถึงฤดูแล้งระดับน้ำใต้ดินจะเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรสามารถนำน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ได้ในปริมาณที่เพียงพอตลอดฤดูแล้ง

ธนาคารน้ำใต้ดินจึงเป็นการจัดการน้ำทั้งระบบโดยใช้เทคโนโลยีด้านธรณีวิทยาสำหรับทิศทางการไหลของน้ำประยุกต์ใช้กับระบบธนาคารน้ำใต้ดิน กักเก็บน้ำที่เหลือบนผิวดิน ในฤดูฝนลงใต้ดิน ทำให้มีแหล่งน้ำธรรมชาติ เกษตรกรสามารถสามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ในฤดูแล้งได้ อีกทั้งโครงการเป็นการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยี ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าเพื่อวางแผนและออกแบบการทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อจัดสรรการใช้น้ำให้หมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ธนาคารน้ำใต้ดินที่ทีมงานทำจะเป็นธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิด ใช้แก้ไขปัญหาการระบายน้ำ น้ำเน่าเสียทั้งในครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร ลดการไหลบ่าของน้ำ แต่วิธีนี้จะไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยตรงแต่จะเป็นวิธีการเก็บน้ำลงสู่ใต้ดิน เพื่อให้พื้นที่รอบๆมีความชุ่มชื้น มีระดับน้ำใต้ดินที่สูงขึ้นสามารถใช้ได้ตลอดฤดูแล้งโดยไม่ขาดน้ำ โดยการเลือกบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำไหลผ่าน เพื่อนำน้ำลงสู่ใต้ดิน โดยมีวิธีการ 1.สำรวจพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง 2.ขุดบ่อขนาด 2×2 เมตร 3. ใส่ยางรถยนต์ลงไปรองก้นบ่อ 3-4 เส้น หรือวัสดุอื่นๆ เช่น ท่อนไม้ หรือเศษปูน 4.ใส่ท่อ PVC เพื่อเป็นท่อระบายอากาศ เติมหินลงไปจนกว่าจะเต็มบ่อ เหลือไว้ 30 CM.ปูด้วยผ้าเขียว 5.นำหินกรวดขนาดเล็กมาเทปิดทับบนผ้าเขียวให้เต็ม เพื่อป้องกันการตกลงไปของเศษวัสดุที่ไม่ต้องการ

ทีมงานบอกว่าธนาคารน้ำใต้ดินนี้ถือเป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาการขลาดแคลนน้ำในฟาร์มเลี้ยงสุกรที่แรก ในสายธุรกิจสุกร ของCPF ที่ทีมงานเชื่อมั่นว่าเกษตรกรสามารถเลี้ยงสุกร ปลูกพืชได้ตลอดฤดูแล้งโดยไม่ขาดแคลนน้ำส่งผลต่อรายได้ทำให้มีความมั่นคง และเกษตรกรยังลดค่าใช้จ่ายจากการสั่งซื้อน้ำเข้ามาใช้ในการเลี้ยงสุกรอีกด้วย ก็ต้องไปลุ้นกันว่าผลงานนี้จะผ่านเข้าไปถึงรอบสุดท้ายลุ้นรับรางวัลหรือไม่ แต่ก็เป็นกำลังใจให้กับทีมงาน