“พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศชาติ” คุยกับนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง “ภูมิพงศ์ วัฒนะประกรณ์กุล”

การจะพัฒนาชาติได้ต้องพัฒนาคนก่อน” หนึ่งในพระราชดำรัสด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่มีส่วนช่วยพัฒนาบุคคลให้มีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์เฉพาะด้านเพื่อกลับมาพัฒนาประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในศาสตร์เฉพาะด้านที่ในหลวง ร.9 ทรงให้ความสำคัญและทรงเป็นแบบอย่าง คือ ความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในโครงการพัฒนาต่างๆเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของในหลวงร.9 ที่ได้พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงในหลายศาสตร์หลายแขนงให้ผู้ที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้กลับมาพัฒนาประเทศในหลายด้าน เฉกเช่นเดียวกับ “ภูมิพงศ์ วัฒนะประกรณ์กุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักงานรองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ อดีตนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงด้านไอที ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปศึกษาต่อที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา ด้วยความมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานในหลวง ร.9 “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” ที่จะนำความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ทุนเล่าเรียนหลวง” ต้นทุนทางปัญญา สร้างโอกาสให้เด็กไทย
ด้วยความชอบเรียนรู้เทคโนโลยีมาตั้งแต่ครั้งยังเด็ก ทำให้คุณภูมิพงศ์ ตั้งใจสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในสายวิทย์-คณิต และได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในทีมแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้นด้วยความฝันที่อยากจะเรียนต่อด้าน “วิศวกรรมศาสตร์ไอที” ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก จึงได้พยายามหาทุนศึกษาต่างประเทศ กระทั่งได้รู้จักทุนเล่าเรียนหลวง หรือในชื่อที่เรียกกันอย่างคุ้นหูว่า “ทุนคิง” ซึ่งเป็นทุนที่สามารถเลือกมหาวิทยาลัยที่จะไปเรียนต่อในต่างประเทศได้

คุณภูมิพงศ์ เล่ารำลึกในช่วงวัยเรียนว่า ทางเลือกของคนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศหากไม่มีทุนส่วนตัวมากพอก็จะไม่มีโอกาสมากนักที่จะได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ “ทุนเล่าเรียนหลวง” จึงเป็นทุนแห่งความหวังของเด็กไทยที่จะได้เปิดโลกหาความรู้จากต่างประเทศ ที่มีเพียงเงื่อนไขว่าผู้รับทุนเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องกลับมาทำงานในประเทศไทยโดยไม่จำกัดว่าจะทำงานภาครัฐหรือเอกชน เพื่อนำความรู้มาพัฒนาประเทศชาติ

ในที่สุด คุณภูมิพงศ์ สามารถทำตามความฝันได้สำเร็จ ด้วยการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงระดับปริญญาตรีในปี 2549 ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านไอทีของสหรัฐอเมริกาและอยู่ในระดับท็อปของโลก

“หากไม่ได้ทุนเล่าเรียนหลวง ผมคงไม่มีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่MIT ตอนนั้นผมเลือกเรียนด้านคณิตศาสตร์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นช่วงที่ไอโฟนเกิดขึ้นมาบนโลก เป็นยุคที่เปลี่ยนเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้สนใจอยากจะตามเทรนด์เทคโนโลยีให้ทัน จะได้นำความรู้มาพัฒนาประเทศ”

“ถ้าวันนั้นไม่ได้ทุน ผมคงไม่ได้ทำในสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ การได้รับโอกาส และประสบการณ์จากนอกประเทศทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา เอาความรู้เหล่านั้นมาทำให้ชีวิตในประเทศของเราดีขึ้นได้ ตามกระแสพระราชดำรัสของในหลวงร. 9 ที่ทรงให้ทุนความรู้มาสร้างต้นทุนทางปัญญาของประเทศ”

นำความรู้ด้านเทคโนโลยี ตอบแทนคุณแผ่นดิน
คุณภูมิพงศ์ เล่าถึงประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมในช่วงระหว่างเรียน โดยได้รับโอกาสไปฝึกงานที่บริษัทเฟซบุ๊ค แพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลก ทำให้ได้เรียนรู้เทรนด์ของเทคโนโลยี และยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อระดับปริญญาโทในสาขาเดิม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านไอทีให้มากขึ้น

หลังเรียนจบได้มีโอกาสทำงานในองค์กรไอทีชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้ 3 ปีก่อนที่จะกลับมาทำงานที่ประเทศไทย ในตำแหน่งวิศวกรรมซอฟแวร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตลาดแรงงานในประเทศไทยมีความต้องการเป็นอย่างมาก

ด้วยความมุ่งหวังเดินตามรอยพระยุคลบาทและพระราชปณิธานของทุนเล่าเรียนหลวง จึงทำให้ คุณภูมิพงศ์ ตระหนักถึงการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ได้พูดคุยกับผู้บริหารซีพีขณะนั้นที่ตั้งใจจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำงาน

เขาตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับเครือซีพี ภายใต้สำนักรองประธานอาวุโส ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีในเครือซีพีเป็นหลักทั้งในประเทศไทยและจีน เช่น การพัฒนาโปรแกรมเพื่อวางแผนผลิตไก่เนื้อ การพัฒนาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ลดต้นทุน สามารถลดแรงงาน พัฒนาสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เทคโนโลยีมีการปรับเปลี่ยนทุกวัน ฉะนั้นเราต้องพัฒนาเทคโนโลยีในองค์กรให้เข้ากับการเปลี่ยนเปลง เรามีหน้าที่ต้องดูว่าเทคโนโลยีตัวไหนที่จะสามารถนำมาปรับใช้ในองค์กรช่วยลดต้นทุน ลดแรงงาน และเป็นประเโยชน์กับองค์กรมากที่สุด ผมได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาปรับใช้ทั้งหมด จากในตอนแรกเรามีเพียงความรู้ด้านเทคโนโลยี แต่พอมาอยู่ซีพี เราต้องเรียนรู้งานด้านธุรกิจองค์กรเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยี และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจขององค์กร”


ศิษย์เก่านักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงด้านไอที เล่าต่ออีกว่า ขณะนี้กำลังทำ “ดิจิทัล โซลูชั่น” ในพื้นที่มักกะสัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยจะนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาพื้นที่ให้เกิดเป็นสมาร์ทซิตี้ เป็นความภูมิใจที่ได้รับโอกาสทำโครงการระดับชาติ และตั้งใจที่จะทำโปรเจคนี้ให้เป็นโมเดลตัวอย่างในการพัฒนาโครงการอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของประเทศไทยยุค 4.0

“สื่อสารเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย” แนวพระราชดำริในหลวงร.9 สู่การปรับใช้ในการทำงาน
ด้วยการปลูกฝังจากครอบครัว และการได้รับรู้พระราชกรณียกิจของในหลวงร. 9 มาโดยตลอด ศิษย์เก่าทุนเล่าเรียนหลวง เล่าด้วยความภาคภูมิใจ ถึงการน้อมนำหลักทรงงานมาปรับใช้เพื่อทำงานในเครือซีพี องค์กรที่ดำเนินกิจการภายใต้พระบรมโพธิสมภาร มาอย่างยาวนานกว่าศตวรรษ ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชา ด้าน “การสื่อสาร” คือต้องสื่อสารเรื่องเทคโนโลยีที่เข้าใจยากให้เป็นเรื่องง่าย ซึ่งจะสามารถนำองค์ความรู้ที่มีไปปรับใช้พัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น

ขณะเดียวกันคุณภูมิพงศ์ ยังได้น้อมนำหลักคิดจาก “พระมหาชนก” พระราชนิพนธ์ของในหลวง ร.9 ที่ว่า “ถึงมองไม่เห็นฝั่ง แต่ก็ต้องพยายามว่ายน้ำต่อไป” คุณภูมิพงศ์ มองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ให้กำลังใจแก่คนทำงานได้ดี ให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจ เพียรพยายามเรียนรู้และพัฒนางานของตน ซึ่งเป้าหมายคือการทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติเป็นสำคัญ

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านมีพระปรีชาสามารถในการนำความรู้ในหลายแขนงมาผสมผสานกับนวัตกรรมเทคโนโลยี จนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่พัฒนาประเทศได้ สิ่งสำคัญที่ผมได้ยึดหลักคิดมาใช้ในการทำงานคือ เรื่องของการสื่อสาร ที่สามารถพูดเรื่องเทคโนโลยียากๆ ให้คนเข้าใจได้ง่าย อย่างการสื่อสารแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ให้เข้าใจง่ายขึ้น จะทำให้คนสามารถนำไปปรับใช้ ทำต่อได้”

“เช่นเดียวกับงานของผม เราปรับใช้เทคโนโลยี คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะมาปรับใช้ แต่ถ้าวันนี้เราน้อมนำหลักคิดด้านการสื่อสาร มาปรับใช้ในการทำงาน เราก็พบว่า เราต้องคุยเรื่องเทคโนโลยีเรื่องที่คนอื่นมองว่ายากให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ปรับเปลี่ยนวิธีคิดแบบเดิม และต้องสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุด”

น้อมนำคำสอนในหลวง…“พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศชาติ”
จากการได้รับโอกาสเข้ามาทำงานที่เครือซีพีจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปี คุณภูมิพงษ์ มองว่า เป็นการทำงานที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่คนในองค์กร คู่ค้า ตลอดจนผู้บริโภคในสังคม ซึ่งเครือซีพีเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

มีหลายโครงการที่เครือฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้น และยังมีนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศชาติ

ดังนั้น การได้ทำงานในเครือซีพี ไม่ได้เพียงแค่ทำงานให้แก่องค์กร แต่เป็นการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติเป็นหลัก ภายใต้หลัก “3 ประโยชน์” คือ การทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ประโยชน์เพื่อประชาชน และประโยชน์เพื่อองค์กรเป็นลำดับสุดท้าย

“ตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ เทคโนโลยีจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชาติ สิ่งที่เครือซีพีทำ คือ การให้สิ่งดีๆ แก่ทุกคนในประเทศเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ให้มีการสร้างสินค้าและบริการใหม่ให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนเปลง เช่น การพัฒนาระบบอีคอมเมริช์ เป็นการลงทุนทางเทคโนโลยีที่ไม่ได้มองแค่กำไร แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งนี้คือความภูมิใจของผมที่ได้ทำงานในองค์กรที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ”