4 เคล็ดลับ ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

4 เคล็ดลับ ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

Cr.Wannasingh Prasertkul

การเดินทางท่องเที่ยว เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ทำให้ร่างกายได้พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ ได้ผ่อนคลายความเครียด เปิดรับพลังเข้ามาเพื่อจะได้ต่อสู้ชีวิตต่อไป วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเดินทางตัวยงมีเคล็ดลับดีๆ มาฝาก

การเดินทางท่องเที่ยว นับเป็นเรื่อง “ความรับผิดชอบ” ส่วนบุคคล เพราะโลกใบนี้ได้รับผลกระทบต่างๆ จากมนุษย์มากขึ้นเหลือเกิน

การท่องเที่ยวนับจากนี้ไปจึงควรใส่ใจเข้าใจและคำนึงถึง “สิ่งแวดล้อม” มากขึ้นด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่กำลังคุกคามโลก อีกทั้งส่งผลกับความยั่งยืนของเศรษฐกิจที่ลึกลงไปถึงระดับชุมชน

รายงานล่าสุดของ Booking.com เผยว่า 94% ของผู้เดินทางชาวไทยมองว่า “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” สำคัญมาก และ 78% กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ต้องเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต

ความคาดหวังของนักเดินทางยุคใหม่จึงไม่ใช่แค่ประสบการณ์ท่องเที่ยวที่น่าประทับใจหรือการบริการที่ดีจากผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่นักเดินทางจะสามารถให้กับสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักทำสารคดี, นักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม พิธีกร ผู้ก่อตั้งรายการ “เถื่อน Channel” ใน YouTube ได้แนะนำเคล็ดลับสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นผู้เดินทางแบบยั่งยืน มาฝากกัน

1)เลือกไฟลท์เที่ยวบินแบบบินตรง (Direct Flight)

การจองตั๋วเครื่องบิน ไม่ว่าผ่านเอเจนซีหรือผู้ให้บริการด้านการจองการเดินทางแบบออนไลน์ (OTAs) จากเดิมที่เราเคยดูแค่ราคา ระยะทาง หรือความสะดวกสบาย แต่ตอนนี้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คนมองหา

หากต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน แนะนำให้เลือกเที่ยวบินที่บินตรง (direct flight) ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเที่ยวบินแบบ transit เพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด

2)เลือกที่พักที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

เราสามารถเลือกจองโรงแรมที่พักที่มีระเบียบมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องราคาและสถานที่ เพื่อมีส่วนร่วมกระตุ้นเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มมากขึ้น

3)ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้เหมือนในชีวิตประจำวัน

ในระหว่างการเดินทาง เราควรคำนึงถึงการดูแลรักษาสถานที่ท่องเที่ยวแบบพื้นฐาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะ ไม่จับหรือสัมผัสอะไรที่ไม่ควรจับ เช่น การดำน้ำก็ไม่ควรไปจับสัตว์ทะเลหรือปะการัง หรือเลิกทิ้งก้นบุหรี่ไว้ตามชายหาด สิ่งที่เราทำได้ระหว่างท่องเที่ยวคือสิ่งเดียวที่เราทำได้ในชีวิตประจำวันทุก ๆ วัน

เพราะฉะนั้นให้เริ่มเปลี่ยนแปลงจากชีวิตปกติในทุกวันก่อน เช่น ลดขยะ ลด Carbon Footprint ลดการบริโภคที่ไม่จำเป็น จากนั้นค่อยนำแนวทางเหล่านั้นไปใช้ระหว่างเดินทาง

นักท่องเที่ยวชาวไทย 87% มีความต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น จนถึงขั้นเลี่ยงจุดหมายและสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ล้นไปในตัว

4)กระจายรายได้สู่ชุมชนและลดการบริโภคเกินความต้องการ

วรรณสิงห์ บอกว่า การเดินทางต่อจากนี้ไปจะไม่ใช่แค่ท่องเที่ยวเพื่อเสพความอร่อยจากร้านอาหารอันขึ้นชื่อ ความสบาย หรือความรื่นรมย์ต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว

“เราไปเพื่อเรียนรู้และซึมซับวิถีชีวิตของผู้คน ธรรมชาติ และเรื่องราวที่อยู่ตรงหน้า ทำให้เราเปิดประตูต้อนรับโลกนี้เข้ามาหาตัวเองอย่างอัตโนมัติ นอกจากจะได้เรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้เราและคนรอบข้างหันมารักสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว

ยังทำให้เราลดการบริโภคที่เกินพอดี มีความต้องการที่น้อยลง เพราะการซึมซับสัมผัสจากการท่องเที่ยว หรืออยู่กับธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น ถือว่าเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว”

ทาง Booking.com เพิ่งเปิดตัวตราสัญลักษณ์ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน (Travel Sustainable property badge) ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมอบให้กับที่พักสำหรับการเดินทางอย่างยั่งยืนทั่วโลก

เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวมองหาที่พักแบบรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นมาตรฐานการปฏิบัติด้านความยั่งยืนให้กับวงการท่องเที่ยวในอนาคต

“การริเริ่มของ Booking.com ด้านความยั่งยืนในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้กระแสการเดินทางแบบรักษ์โลกที่ดูเข้าถึงยากแบบในอดีต กลายมาเป็นมาตรฐานที่เปรียบเทียบได้ทั้งอุตสาหกรรมการเดินทาง ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างสมบูรณ์ ในการสานต่อเป้าหมายด้านความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริงและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ในวงกว้าง”

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ