สแตนชาร์ดชาร์เตอร์ด มองท่องเที่ยว-เลือกตั้งหนุน GDP ไทยปี 66 โตโดดเด่น

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดเศรษฐกิจไทยปี 66 ฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยคาดการณ์ตัวเลข GDP ไทยในปี 66 เติบโต 4.5% จากปัจจัยการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวต่อเนื่อง ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้อย่างมีนัยสำคัญ และมีสัดส่วนต่อ GDP ที่มากถึง 15% ของ GDP ทั้งหมด

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยหนุนของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศได้ค่อนข้างมาก ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 66 จะเติบโตโดดเด่นกว่าในปีนี้และดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แต่ปีหน้าการท่องเที่ยวและการเลือกตั้ง จะทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นบวกโดดเด่นได้อย่างดี” นายทิม กล่าว

อย่างไรก็ตามอาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยบ้างในเรื่องการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในบางประเทศ แต่มองว่าการท่องเที่ยวจะเข้ามาช่วยชดเชยในส่วนของผลกระทบจากภายนอก และล่าสุดจีนได้เริ่มผ่อนคลายนโยบายการควบคุมโควิด-19 ลงแล้ว ทำให้ปีหน้ามีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเริ่มทยอยเดินทางออกมานอกประเทศได้ และคาดจำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้าไว้ที่ 15-20 ล้านคน

“Recession ของเศรษฐกิจในประเทศหลัก และกระทบมาถึงเศรษฐกิจโลก เราไม่ได้ Bias ว่าจะเป็นการ Recession ที่รุนแรง แต่เป็นแบบ Mild มากกว่า เพราะปีหน้าเศรษฐกิจโลกยังมีมุมมองบวกที่ยังเติบโตได้ 2.5% ซึ่งอาจจะมีบางประเทศที่เศรษฐกิจติดลบบ้าง เช่น สหรัฐฯ -0.2% อังกฤษ -0.5% แต่ยุโรปก็ยังบวกได้อ่อนๆ 0.2%” นายทิม กล่าว

ส่วนค่าเงินบาทในปี 66 มองไว้ที่ 35 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะเห็นการแข็งค่าขึ้นจากปีนี้ที่อยู่ราว 36 บาท/ดอลลาร์ เป็นการแข็งค่าขึ้นตามเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และมุมมองบวกต่อดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลได้ แม้ว่าจะจะยังอยู่ระดับต่ำกว่าที่ประเทศไทยเคยทำไว้ได้

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในปี 66 คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ในปี 66 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่อย่างน้อย 1.75% โดยกนง.อาจจะประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วงต้นปีหน้า ประกอบกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังให้น้ำหนักการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากกว่าเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงิน ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์