หอการค้าฯ เตรียมชง กกร.หนุนแก้หนี้เจาะกลุ่ม SME เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ได้รับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ ทั้งในระบบและนอกระบบของภาครัฐ จากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่เรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ หอการค้าไทย เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาล ที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งในส่วนของหอการค้าไทย และเครือข่ายพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับรัฐบาล และจะนำประเด็นดังกล่าว ไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้มีศักยภาพในการชำระหนี้ และมีเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านนายกิตติรัตน์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวถึงมูลหนี้ทั้งหมดในระบบของประเทศไทย ครอบคลุมหนี้ครัวเรือนจำนวน 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 90% ของ GDP โดยในส่วนของข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จะพบว่ามีมูลหนี้อยู่ประมาณ 13.5 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย หนี้บ้าน 4.9 ล้านล้านบาท หนี้เช่าซื้อ 2.6 ล้านล้านบาท หนี้บัตรเครดิต 5.4 แสนล้านบาท หนี้ส่วนบุคคล 2.5 ล้านล้านบาท หนี้เกษตร 8.7 แสนล้านบาท หนี้พาณิชย์ 6.7 แสนล้านบาท และหนี้อื่น ๆ 1.3 ล้านล้านบาท รวมลูกหนี้ทั้งหมดจำนวน 100 ล้านบัญชี ซึ่งในทั้งหมดนี้เป็นหนี้เสีย (NPL) สูงถึง 1 ล้านล้านบาท

ส่วนมูลหนี้ที่เหลืออีก 2.5 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์สำหรับข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยหนี้ทั้ง 2 กลุ่มนี้ บางส่วนได้รับการแก้ไข และมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้คงอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน จากการติดตามปัญหาหนี้นอกระบบ เชื่อว่ามีจำนวนมูลหนี้อยู่อีกไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ การปล่อยกู้เกินกว่า 15% ต่อปี หรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยการจัดการหนี้นอกระบบจะเป็นไปตามกระบวนกฎหมาย ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย และนำไปสู่ข้อยุติ โดยเจ้าหนี้สามารถจดทะเบียนใบอนุญาตปล่อยสินเชื่อเข้าในระบบที่ถูกต้องได้ เช่น นาโนไฟแนนซ์ หรือพิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ภาวะหนี้สินทั้งประเทศที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องอันตรายและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขหนี้ทั้งระบบอย่างสุดความสามารถ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยทุก ๆ 1% ที่ลดลง จะช่วยรักษาสถานภาพของผู้กู้จำนวนหนึ่งให้ไม่เข้าสู่การเป็นหนี้ NPL

โดยสิ่งเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ในการช่วยกันหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่ม หรือเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ก่อน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบเกิดผลสำเร็จและมีผลอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจสามารถมีส่วนสนับสนุนแนวทางดังกล่าวได้ด้วย เช่น การออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มพนักงานหรือภายในบริษัทที่กำกับ ทำให้ภาระหนี้ของพนักงานลดลง เป็นต้น

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์