10 นักศึกษาทุนการศึกษา “คนน่านไม่ทิ้งกัน” ลูกหลานเกษตรกรน่านภูมิใจจากการรับทุนซีพีเรียนคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ของ PIM ประทับใจภูมิใจในการฝึกงานตามหน่วยงานซีพี

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมานักศึกษาทุนการศึกษา “คนน่านไม่ทิ้งกัน” โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วม กับ จังหวัดน่านที่สนับสนุนให้ลูกหลานเกษตรกรเรียนฟรีระดับปริญญาตรีที่คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ซึ่งเริ่มเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2559 ทั้ง 10 คน มีโอกาสพบ คุณสุวัฒน์ พรมสุวรรณ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่มีส่วนริเริ่มโครงการนี้ พร้อม อาจารย์มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร อาจารย์วิชัย พูนพิริยะทรัพย์ รองคณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อพูดคุยให้โอวาท ข้อคิดถึงเส้นทางชีวิตและการเตรียมพร้อมในโลกการทำงาน ขณะที่นักศึกษาทุนทั้ง 10 คนผลัดกันถ่ายทอดประสบการณ์การเรียน การฝึกงานในหน่วยงานต่างๆของเครือซีพีที่อาคารทรูพร้อมเยี่ยมชมสำนักงานทรูที่รัชดา

โดยนักศึกษาทุนทั้ง 10 คนได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในชีวิตโดยเฉพาะช่วงฝึกงานได้มีโอกาสฝึกงานเป็นพนักงานหน้าร้าน 7-11 กิจการเจียไต๋ โรงงานข้าวซีพี ธุรกิจยางพาราของกลุ่มพืชครบวงจรรวมทั้ง แม็คโคร ทำให้ได้ฝึกความอดทน งานการให้บริการและการบริหารอารมณ์ที่หลากหลายของลูกค้าภายในร้าน 7-11 ได้ฝึกงานด้านการเกษตรในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ อาทิเช่นเรื่องของการผลิต การส่งเสริมอาชีพเกษตรกร รวมทั้งได้เรียนรู้ฝึกงานเกี่ยวกับการเงิน การตลาด การขาย การจัดการคลังสินค้า ซึ่งนักศึกษาทุนทั้ง 10 คนมีการพัฒนาทักษะด้านการคิด การนำเสนอ การถ่ายทอด ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรและสะท้อนถึงผลการเรียนการสอนที่ได้ผลในรูปแบบการเรียนรู้และปฏิบัติจริงหรือ Work Based Learning ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นักศึกษาทั้ง 10คน พร้อมที่จะก้าวสู่โลกการทำงานและได้รับโอกาสในการทำงานภายในเครือฯ

นอกจากนี้คุณสุวัฒน์อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่านและคณะผู้บริหารเครือฯยังให้แนวคิดกับนักศึกษาทุนทั้ง 10 คน ว่าถือเป็นโอกาสในชีวิตของนักศึกษาทั้ง 10 คนได้เรียนรู้ ได้ฝึกฝนตนเองและรู้เส้นทางการงานและชีวิต เมื่อมีโอกาสการทำงานแล้วให้กลับไปศึกษาและสร้างโอกาสในการพัฒนาจังหวัดน่านให้เกิดอาชีพการเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งนักศึกษาทั้ง 10 คนที่เป็นลูกหลานเกษตรกรในจังหวัดน่านมีโอกาสที่จะพัฒนาการเกษตรยุค 4.0 ที่มีการจัดการที่ดี สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้และดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม