มศว. ร่วมมือ พีไอเอ็ม ขยายเครือข่ายการศึกษา ร่วมพัฒนาหลักสูตรด้านการจัดการการเกษตร

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ ห้อง 4-1608 ชั้น 16 อาคาร CP All Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดี ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม ( PIM ) สถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มบริษัทซีพี ออลล์ โดยมี ผศ.ดร.อรัญญา มิ่งเมือง คณบดีคณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร มศว พร้อมด้วยคณาจารย์ ร่วมพิธีลงนามดังกล่าว พร้อมร่วมเยี่ยมชมกิจการและกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ของ พีไอเอ็ม

“พีไอเอ็ม” หรือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาซึ่งก่อตั้งและได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เปิดสอนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก โดยได้รับการรับรองวิทยฐานะอย่างถูกต้องจากกระทรวงศึกษาธิการ พีไอเอ็ม ดำเนินงานในลักษณะของ Corporate University ซึ่งมีระบบการเรียนการสอนแบบ Work-based Education เพื่อตอบสนองทุกวงการอาชีพหลากสาขาตามความต้องการของคนรุ่นใหม่และสังคมในปัจจุบัน เป็นการเรียนรู้ควบคู่การปฏิบัติงานจริง โดยทางฝ่ายพีไอเอ็มได้นำคณะผู้บริหารของ มศว เยี่ยมชมกิจการการจัดการเรียนสอนในแบบเรียนจริง ทำจริง ที่ห้องปฏิบัติการที่สำคัญอย่างการเรียนในสาขางานบริการ คณะวิทยาการจัดการ • การจัดการธุรกิจการบิน • การจัดการการบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งได้ลงทุนหลายสิบล้านบาทในการสร้างเครื่องบินจำลอง สายการบิน PIM Airline เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนฝึกปฏิบัติจริงกับงานสายการบินทั้งภาคพื้นดินและบนอากาศยาน นำเยี่ยมชมการเรียนออกแบบหุ่นยนต์เพื่อใช้ในโรงงาน 7-11 ซึ่งขณะนี้ทางพีไอเอ็มก็มีหุ่นยนต์อัจฉริยะ “True5G Temi Connect & Carebot” เพื่อให้นักศึกษาคิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างทันสมัย

นอกจากชื่อเสียงของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จะเป็นที่รู้จักแพร่หลายและเป็นสถาบันการเรียนที่เป็นที่นิยมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนจริง มีอาชีพจริง ในหลากหลายกลุ่มสาขาวิชาชีพที่เป็นเทรนด์อาชีพที่ฮอตฮิตแล้ว พีไอเอ็มก็ยังเปิดหลักสูตรการเรียนต่างๆ ที่จัดว่าเป็นอาชีพของคนรุ่นใหม่ในกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่ม ธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมหรือกลุ่มทรูคอร์ปอเรชัน จำกัด มหาชน นอกเหนือไปจากกลุ่มเกษตรกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นรากฐาน / กลุ่มธุรกิจ CP ALL เกี่ยวกับเรื่องการตลาดและการจัดจำหน่ายที่รู้จักกันดีคือ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ซึ่งปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศไทยหนึ่งหมื่นสองพันกว่าสาขาแล้ว ซึ่งมีทั้งเรื่องการพัฒนากำลังคน การจัดอบรมเทรนนิ่งและชุมชน รวมทั้งเรื่องของการให้บริการอิ่มสะดวกด้วย เรามีวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ งามวงศ์วาน เปิดระดับ ปวช.ปวส. แต่ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ของเรามีการเรียนระดับปริญญาตรี ซึ่งมีห้องฝึกปฏิบัติการหรือห้อง Lab หลายห้อง รวมทั้งร้านค้าจำลอง 7-11 ทุกสาขาวิชา มี 33 หลักสูตร ใน 10 คณะ 2 วิทยาลัย ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะโลจิสติกส์และการจัดการการขนส่ง คณะการจัดการธุรกิจอาหาร คณะศิลปศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมการเกษตร คณะการจัดการการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยการจัดการ วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาจีน

โอกาสนี้ รศ.ดร.สมชาย อธิการบดี มศว ได้กล่าวสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริหารของฝ่าย พีไอเอ็ม ว่า “ มศว เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีรากฐานความเข้มแข็งทางวิชาการมานานนับถึงวันนี้ 71 ปี แต่ยังต้องพัฒนา ปรับตัวให้เข้าได้กับสังคมยุคใหม่โดยเฉพาะการปรับตัว ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนไปเป็นการเรียนออนไลน์ สอนออนไลน์ อย่างคณะเทคโนโลยีนวัตกรรมฯ ของเราที่มีคณบดีและคณาจารย์มากันครบในวันนี้ ก็มีการวิจัยในเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การวิจัย เป็นการเรียนด้านการเกษตรเชิงพาณิชย์แบบใหม่ มีนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือเช่นกัน เชื่อว่าถ้าเรา มศว จับมือกับ พีไอเอ็ม เรื่องงานวิจัยนี้ เราก็ไม่ด้อยไปกว่าใคร สามารถมีนวัตกรรมได้ เราทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันผลักดันงานวิจัยวิชาการในสิ่งที่ดี รัฐเองก็อยากให้มหาวิทยาลัยที่เป็นของรัฐจับมือร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของเอกชน ซึ่งพีไอเอ็มก็เป็นสถาบันการศึกษาภาคเอกชนที่มีความพิเศษตรงที่เป็นภาคการศึกษาที่มีธุรกิจด้วย และมีความสัมพันธ์ทางด้านวิเทศสัมพันธ์กับประเทศจีน ก็ใจตรงกันกับ มศว ของเรา เพราะเราก็มีงานวิเทศสัมพันธ์กับทางจีนและรับนิสิตจีนมาเรียนด้วย”

ด้าน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี พีไอเอ็ม กล่าวให้ความเชื่อมั่นและแนวทางความร่วมมือนี้แก่ฝ่าย มศว ว่า “ พีไอเอ็มของเราย่างเข้าสู่ปีที่ 14 เหมือนหลานพบปู่เพราะ มศว อายุ 71 ปี แต่เราเองก็มีปู่ของเราเหมือนกัน ปู่ของเราก็คือเครือ CP ซึ่งอายุจะครบ 100 ปีในปีหน้านี้ เพราะเราเริ่มต้นมาจากร้านขายเมล็ดพันธุ์ผักเล็กๆ ในถนนทรงวาด ที่เมืองจีนก็คือเจียไต๋ ในเวลา 99 ปีเศษที่เราได้เดินทางจนเติบโตขยายตัวจนมีการลงทุนไปทั่วโลก มีบุคลากรไปทั่วโลกประมาณสามแสนเจ็ดหมื่นกว่าคน เฉพาะปีนี้ปีเดียว เครือ CP จะรับคนเข้าทำงานที่ประกาศออกสื่อไปแล้วคือสองหมื่นแปดพันกว่าคน นอกจากเราจะเป็นมหาวิทยาลัยองค์กรธุรกิจ เรายังเป็น Net Working เป้าหมายคือสร้างเครือข่ายเข้มแข็งทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เราต้องร่วมกันสร้างคนให้แก่ประเทศชาติและโลกนี้ ในช่วงเกือบร้อยปีที่ CP เติบโตมา เรามีมูลค่าในตลาดประมาณหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐ ปีที่แล้วมียอดขายเจ็ดหมื่นสามพันล้านเหรียญสหรัฐ ทั่วโลก การที่เรามีบริษัทใหญ่มาช่วยเหลือเกื้อกูลก็ทำให้เราสามารถทำงานการศึกษาได้ภายใต้ปรัชญา Work-based Education ได้ดียิ่งขึ้น ก็คือ เรียนและฝึกงานอย่างเข้มข้น นี่คือปรัชญาการเรียนการสอนของพีไอเอ็มของเราและเป็น IT Base University นี่คือหัวใจของการศึกษาของพีไอเอ็ม การสร้างเครือข่ายเป็นเรื่องที่เน้นย้ำมาตั้งแต่เราตั้งสถาบันฯ วันนี้เราเป็นน้องใหม่ที่มีโอกาสได้ร่วมงาน ร่วมมือกับ มศว

ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่มากซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในแวดวงการศึกษาไทย ได้กระจายตัวไปอย่างกว้างขวางไม่เฉพาะเรื่องครูเรื่องการศึกษาเหมือนเก่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราจะได้ทำงานร่วมกันโดยเฉพาะในเรื่องของการเกษตร ซึ่งเป็น 3 คณะสำคัญของพีไอเอ็มที่มีเรื่องเกษตรที่เรามีความรู้และความเชี่ยวชาญ เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราก็เริ่มต้นมาจากธุรกิจเรื่องอาหารและการเกษตรมา ตอนนี้ก็คือคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร เรียนในเรื่องของ การจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม / เทคโนโลยีแปรรูปอาหาร สร้างนวัตกรรมอาหาร การบริหารและทำธุรกิจ เน้นสร้างนักจัดการเกษตรที่สามารถบูรณาการความรู้ด้านการเกษตรมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย บัณฑิตจึงไม่ใช่เกษตรกร แต่เป็นนักจัดการเกษตรยุคใหม่ที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในภาคธุรกิจต่างๆ ของประเทศได้

สำหรับเราชาวไอพีเอ็มมักจะพูดตรงกันว่าเราเน้นเรื่องของ Smart food Smart Agriculture เป็นหนึ่งในเรื่องของหลายๆ Smart ของเรา คือ Smart Production Smart Management Smart Service Smart Internet Smart People ที่เราย้ำเป็นพิเศษเพราะเราเป็นสถาบันการศึกษา วันนี้เป็นเกียรติมากที่ มศว ได้ให้โอกาสมาร่วมมือกับเรา ผมจึงเชื่อว่าเราจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญของ มศว ด้วยเช่นกัน”