อุตสาหกรรมอาหารไทย การ์ดดี ไม่มีตก CPF ถอดบทเรียนจากโมเดลความสำเร็จของซีพีในอู่ฮั่น ยกระดับมาตรการควบคุมด้านสุขอนามัย ปลอดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์และโรงงานผลิตอาหารหลายแห่ง ในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ไปจนถึงบราซิล ต้องปิดหรือหยุดการผลิตชั่วคราว ทำให้เนื้อสัตว์ขาดตลาด ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่ยังผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงใหม่ๆ อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาหากเราประมาทกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่จบลง ซึ่งสอดคล้องกับเมื่อวันที่ 25 ก.ค.63 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เรื่อง “โควิด-19 กับอาหารแช่แข็ง” บนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” โดยตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดของโควิด-19 ในปักกิ่ง พบเชื้อที่เขียงปลาแซลมอนนำเข้าจากเดนมาร์ก และล่าสุด ในต้าเหลียนก็พบเชื้อจากกุ้งนำเข้า เป็นข้อเตือนใจการซื้ออาหารแช่แข็ง ว่าต้องให้ความสำคัญกับสุขอนามัยอยู่เสมอ

ด้านผู้ผลิตอาหารก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และยังคงตั้งการ์ดป้องกันอย่างเหนียวแน่นมาตลอด โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ CPF เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยเริ่มผ่อนคลาย แต่บริษัทยังคงใช้มาตรการป้องกันสูงสุด เพื่อให้อาหารปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง จนถึงมือผู้บริโภค

CPF ได้ศึกษาและถอดบทเรียนจากโมเดลความสำเร็จของซีพี ในอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่ป้องกันโรคระบาด สร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน พร้อมทั้งผลิตอาหารให้ผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในจุดศูนย์กลางของการระบาด จนเป็นที่มาของการยกระดับมาตรการควบคุมด้านสุขอนามัย และครบวงจร ตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป ไปจนถึงพนักงาน ระบบการขนส่งและการกระจายสินค้า

โรงงานแปรรูปอาหารของ CPF ได้ติดตั้งประตูสแกนอุณหภูมิร่างกายแบบเดินผ่าน ช่วยคัดกรองอุณหภูมิแม่นยำยิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ทั้งการใส่หน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือเป็นประจำ เพิ่มความถี่ในการฆ่าเชื้อในพื้นที่และจุดที่สัมผัสบ่อย รวมถึงเพิ่มการขนส่งด้วยระบบสายพานเพื่อลดการสัมผัสของพนักงาน

นอกจากนี้ บริษัทได้กำหนดระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และระยะห่างทางบุคคล (Physical Distancing) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในโรงงานให้มากที่สุด ตั้งแต่การเดินทางของพนักงาน บริษัทฯ ได้เพิ่มจำนวนรถรับส่งพนักงาน เพื่อให้ได้นั่งบนรถแบบเว้นระยะห่าง รวมทั้งงดกิจกรรมการตรวจเยี่ยมจากบุคคลภายนอก และตรวจคัดกรองลูกค้าและผู้รับเหมาอย่างเคร่งครัด

ในขณะเดียวกันฟาร์มของบริษัทฯ และเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรรายย่อย (คอนแทรคฟาร์ม) ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุค New Normal น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร CPF ย้ำว่า บริษัทฯ มีมาตรการเฝ้าระวังโรคในสัตว์และมาตรการสุขอนามัยของบุคลากรที่เคร่งครัดทั้งในฟาร์มสัตว์บก และสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่อง และในช่วงที่มีโรคระบาดบริษัทฯ ได้ประกาศมาตรการเสริม ได้แก่

1.การคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานทุกคน ทุกวันก่อนเข้าปฏิบัติงาน

2.การเว้นระยะทางสังคม เช่น การเว้นระยะห่าง 2 เมตร งดการเยี่ยมชมฟาร์ม งดเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง และการทำงานที่บ้าน

3.สุขอนามัยส่วนบุคคล การสวมหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกัน

4.การขนส่งปลอดภัย มีการตรวจอุณหภูมิก่อนปฏิบัติงาน สวมหน้ากากอนามัย และจัดส่งแบบไม่สัมผัส เป็นต้น

นอกจากนี้ ฟาร์มสุกรทั้งหมดของ CPF ในปัจจุบัน เป็นการเลี้ยงด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ ที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม เช่น เลี้ยงในระบบโรงเรือนปิด ที่ควบคุมอุณหภูมิ ด้วยอาหารสัตว์ที่สามารถตรวจสอบแหล่งวัตถุดิบโดยรับจากแหล่งที่ปลอดภัย ปลอดเชื้อเท่านั้น มีระบบฆ่าเชื้อรถขนส่ง กำหนดจุดส่งมอบสินค้าแยกจากฟาร์ม

ในร้านซีพี เฟรชมาร์ท พนักงาน CP Freshmart Delivery จัดส่งอาหาร โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงติดเชื้อ อาทิ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายพนักงานทุกวัน การเว้นระยะห่างในการส่งสินค้าแก่ผู้รับบริการ และส่งเสริมการชำระค่าบริการทางดิจิทัล

ทั้งนี้ CPF ยังได้จัดตั้ง “ศูนย์ฮอตไลน์ โควิด19” (CPF Covid-19 hotline) เพื่อให้พนักงานสอบถามข้อมูลและแจ้งอาการป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีล่ามให้พนักงานต่างชาติ เพื่อทำความเข้าใจพนักงานทุกคน ทุกระดับ สร้างความมั่นใจในการทำงาน

จากความสำเร็จในอู่ฮั่น สู่ประเทศไทย CPF ได้ส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ ไปยังกิจการในต่างประเทศ จนทำให้ธุรกิจของบริษัททั่วโลกส่งมอบอาหารปลอดภัย สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศของตน ตามวิสัยทัศน์การเป็น “ครัวของโลก”

ที่มา:Smart Sme channal