โครงการธรรมชาติปลอดภัยซีพีกับผักหวานป่า เล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ให้คนกับป่าห้วยขาแข้งอยู่ร่วมกัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา wearecp ได้รับเชิญจากทีมงานโครงการธรรมชาติปลอดภัย อีกหนึ่งโครงการสังคมดีๆของเครือซีพีเพื่อไปดูเรื่องราวของความพยายามในการทำงานร่วมกันระหว่างโครงการธรรมชาติปลอดภัย ที่ดำเนินการโดยทีมงานเจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส์ กลุ่มพืชครบวงจร กับมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรและศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง ต.ระบำ ที่จะทำให้ชาวบ้าน เกษตรกรที่อาศัยอยู่ติดกับผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ถือเป็นมรดกโลก

ปัญหาคนกับป่า ณ ห้วยขาแข้ง ว่าด้วย”ผักหวานป่า”
เรื่องราวของโครงการเกิดขึ้น ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่าที่มีความสำคัญเพราะนอกจากจะมีความหลากหลายของระบบนิเวศ และยังคงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าพันธุ์ไม้ต่างๆมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายากของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะไม่มีปัญหาเรื่องชุมชนเข้าไปอยู่อาศัย หรือเข้าไปทำกินในพื้นที่ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

แต่ตลอดแนวด้านทิศตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีชุมชนตั้งอยู่ประชิดชายขอบจำนวน 29 ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร และชุมชนที่เข้ามาใช้ประโยชน์เรื่องการเก็บหาของป่า เพื่อสร้างรายได้เสริมอีกจำนวน 60 ชุมชน การที่ชุมชนในพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เข้าไปพึ่งพิงการใช้ประโยชน์โดยการเข้าไปเก็บหาของป่าในพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บางครั้งเกิดการรุกล้ำเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งโดยตรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติทั้งพันธุ์พืช และสัตว์ป่า มีการแอบแฝงเข้าไปล่าสัตว์ หรือบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตลอดจนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนในพื้นที่กันชน กับเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ดูแล ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คุณบุญเลิศ เทียนช้าง ประธานศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียงบรรยายให้ความรู้การปลูกผักหวานป่าพร้อมนำชมต้นผักหวานป่าที่ปลูกในศูนย์เรียนรู้ฯ

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้ง 3 องค์กร มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร โครงการธรรมชาติปลอดภัยและ ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง ต.ระบำ จึงได้ริเริ่มแนวคิดเรื่องการนำพืชป่าที่ชุมชนเข้าไปเก็บหามาเพาะพันธุ์ และมอบให้กับชาวบ้านในเขตพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนำไปปลูกไว้ที่บ้าน พื้นที่ป่าสาธารณะ และพื้นที่ป่าชุมชน เพื่อในอนาคตเมื่อพืชพันธุ์เหล่านี้เติบโต ชาวบ้านก็สามารถเก็บมาบริโภคและสร้างรายได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปพึ่งทรัพยากรจากผืนป่า โดยเลือก “ผักหวานป่า” เป็นตัวนำ

คุณจงกล เหลืองอ่อน รองกรรมการผู้จัดการโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับคุณอุดม กลับสว่าง ตัวแทนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และคุณบุญเลิศ เทียนช้าง ประธานศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียงต.ระบำ มอบกล้าผักหวานป่าให้ชุมชน หมู่9 ต.ระบำ อ.ลานสัก และกลุ่มเกษตรกร อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

โดยธรรมชาติของ “ผักหวานป่า” เป็นไม้ที่ต้องอาศัยไม้อื่นเป็นไม้พี่เลี้ยงในการเจริญเติบโต อีกทั้งระบบรากของผักหวานป่า ติดเชื้อราได้ง่าย ทำให้ปลูกยาก ต้องมีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการผักหวานป่า ประกอบกับที่ผ่านมาชาวบ้านมีความเชื่อว่า การใช้วิธีจุดไฟเผาป่า เพื่อให้ลามไปลวกต้นผักหวานป่าจะแตกยอดเร็ว และให้ผลผลิตมาก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาไฟป่าส่งกระทบเป็นวงกว้าง และยังเป็นที่มาของปัญหาความเสื่อมโทรมของผืนป่า พืชพันธุ์ไม้ถูกทำลาย สัตว์ป่าล้มตาย ไร้อาหาร และถิ่นที่อยู่อาศัย

ภาพจาก puechkaset.com/ประโยชน์.คอม

อีกทั้ง “ผักหวานป่า” รสชาติดี ราคาสูง เฉลี่ยกก.ละ100-200 บาท จึงเป็นที่นิยม ในการเก็บหาจากป่า แต่เนื่องจากปัจจุบันต้นผักหวานป่า จะมีอยู่มากมายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ส่วนบริเวณพื้นที่กันชน และพื้นที่ป่าชุมชนจะมีต้นผักหวานป่าอยู่บ้าง ดังนั้นเมื่อชาวบ้านขาดองค์ความรู้ในการเพาะ ปลูก ดูแลผักหวานป่า เมื่อชาวบ้านนำไปปลูกจึงไม่รอด และโตยาก แต่ถึงอย่างนั้นชาวบ้านยังมีความต้องการที่จะปลูก บางคนจึงใช้วิธีเข้าไปขุดต้น”ผักหวานป่า”มาปลูก ทำให้”ผักหวานป่า”หายไป และเหลืออยู่น้อยมากในพื้นที่กันชน ทั้ง 3 หน่วยงานพันธมิตรเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นจึงได้ทำการส่งเสริมองค์วามรู้เรื่องการเพาะ ปลูก ดูแลผักหวานป่า พร้อมทั้งมอบกล้าผักหวานป่าให้ไปปลูก ซึ่งสิ่งที่จะเกิดควบคู่กับการปลูก”ผักหวานป่า”คือ ไม้ร่มเงาชนิดอื่นๆ จึงเกิดเป็นแนวทางในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ไปโดยปริยาย

ปลูกผักหวานป่าเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้ง
ด้วยเหตุนี้โครงการธรรมชาติปลอดภัย มูลนิธิสืบ นาคะเสถียรและศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง ต.ระบำ จึงนำไปสู่การจับมือกันที่จะสร้างพื้นที่ต้นแบบ “ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง ต.ระบำ” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และจัดอบรมความรู้เรื่องการปลูก “ผักหวานป่า” และเตรียมการเรื่องการจัดการไผ่ เพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากผืนป่าอนุรักษ์ และ ขยายผลองค์ความรู้ และแนวคิดเรื่องการปลูกผักหวานป่า เพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ จากศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติฯ สู่ชาวบ้าน 3 อำเภอในเขตพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรต่อผืนป่า ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ และขยายแนวคิดเรื่องการปลูกผักหวานป่า เพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

เกษตรกรรอบห้วยขาแข้งที่เข้ารับการอบรม
และได้รับต้นกล้าผักหวานป่าด้วยความดีใจนำกลับไปปลูก

โดยมีเป้าหมายถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกผักหวานป่าเพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ และรองรับการเข้ามาเรียนรู้ของชาวบ้านใน 3 อำเภอในพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ปีละ 500 คน สนับสนุนกล้า”ผักหวานป่า”ให้ชาวบ้าน 3 อำเภอในพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนำไปปลูก เพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากป่า ปีละ 50,000 กล้า รวมทั้งต่อยอดเรื่องส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ / กลุ่มอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่า ปีละ 6 ราย / กลุ่มอาชีพ พร้อมกับ ขยายผลแนวคิดและการส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องการปลูกผักหวานป่าเพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติไปยังพื้นที่นอกเขตรักษาพันธุ์ฯ ปีละ 1 เครือข่าย

และนอกจากการส่งเสริมอาชีพปลูกผักหวานป่าแล้ว สำหรับการพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่า โครงการธรรมชาติปลอดภัยฯ ยังร่วมกับหน่วยงานต่างๆจัดอบรมให้ความรู้การทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ควบคู่ไปกับสนับสนุนการพัฒนาอาชีพเสริม เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และใช้เวลาอยู่กับอาชีพเสริม ทำให้ไม่มีเวลาว่างเข้าป่า เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มหมูฝอย เพาะเห็ด เลี้ยงหนูนา ข้าวเกรียบปลากระจก แปรรูปผลิตภัณฑ์ปลา

นอกจากนี้โครงการธรรมชาติปลอดภัยยังร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดอบรมความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนความสำคัญของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งให้กับเด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการประสานให้นักเรียนได้มาเรียนรู้การเพาะกล้าไม้ และศึกษาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติฯ ด้วย

จากผักหวานสู่ความยั่งยืนคนอยู่กับป่าห้วยขาแข้ง
แม้ว่าการส่งเสริมปลูก “ผักหวานป่า” จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมแพ้ ที่จะทำให้สำเร็จ เพราะไม่เพียงจะมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ชาวบ้านต่างก็มีสำนึกในการที่จะช่วยดูแลป่าห้วยขาแข้ง ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติฯ จึงยังคงจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเพาะ การปลูก การดูแล ผักหวานป่า เพื่อการลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากป่าอนุรักษ์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ราว 3,000 ครัวเรือน แจกจ่ายต้นกล้า ผักหวานป่า ให้ชาวบ้านนำไปปลูก แล้วราว 250,000 กล้า รวมทั้งยังขยายผลการส่งเสริมการปลูก “ผักหวานป่า” เพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 7 เครือข่าย จำนวน 10,000 กล้า

วันที่ wearecp ไปร่วมกิจกรรมอบรมปลูก “ผักหวานป่า” วันนั้น ชาวบ้านแต่ละคนยังคงมีความหวังว่า ความรู้ที่ได้รับการอบรมและลงดูพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้ฯแห่งนี้ภายใต้การดูแลของอดีตผู้พิทักษ์ป่าอย่างคุณท็อป-บุญเลิศ เทียนช้าง และต้นกล้าผักหวานป่าที่ได้รับจะกลับไปจะเกิดและเติบโต ยืนต้นได้ ไม่เพียงจะได้ใช้บริโภคในครัวเรือน ยังมีโอกาสที่จะขายเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว ชาวบ้านก็ไม่ต้องเดินทางยากลำบากเข้าไปเก็บผักหวานในป่าห้วยขาแข้ง และมีส่วนช่วยรักษา มรดกโลกนี้เอาไว้

ก็ขอเป็นกำลังใจให้ชาวบ้าน โครงการธรรมชาติปลอดภัย มูลนิธิสืบ นาคะเสถียรและศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติฯ ต.ระบำ ทำโครงการดีๆให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันด้วยความสำเร็จ และหวังว่าโครงการนี้ดูเหมือนจะเล็กๆ ธรรมดา แต่ผลที่ได้จะยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ ชาวบ้านและป่าห้วยขาแข้งสามารถอยู่ร่วมกัน พร้อมจะเป็นโครงการตัวอย่างของโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนกันต่อไป